แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger) มาจากรากศัพท์คำว่า ฮัมบูร์ก (Hamburg) ชื่อเมืองหนึ่งในประเทศเยอรมนี ย้อนกลับไปในช่วงยุคกลาง เมืองฮัมบูร์กเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญระหว่างประเทศฝั่งอาหรับและยุโรป
การเดินทางติดต่อค้าขายทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมอาหาร โดยชาวเยอรมันจะปรุงรสเนื้อวัวด้วยเครื่องเทศท้องถิ่นหรือหมักเกลือ แล้วจึงนำไปรมควันเพื่อการเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 18 ทหารเรือชาวเยอรมันและผู้อพยพทางฝั่งยุโรปได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ได้นำเมนูนี้มาด้วย ด้วยความสะดวกและรับประทานง่ายจึงทำให้เบอร์เกอร์กลายเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ดยอดนิยม และในช่วงทศวรรษที่ 1820 หรือ 1830 นี่เองที่มีการนำชื่อ “แฮมเบอร์เกอร์สเต็ก” ไปปรากฏอยู่บนรายการอาหารของร้านอาหารที่ชื่อเดลโมนิโก ซึ่งตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ก่อนจะได้รับความนิยมแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
ในช่วงแรกของการรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ มักใช้ขนมปังในส่วนที่เป็นหัวกะโหลก เนื่องจากนำมารับประทานกับเนื้อบดทอดกลมๆ และต่อมาก็มีผู้คิดค้นขนมปังก้อนสำหรับแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมาในปี 1916 ก่อนที่เขาจะไปเปิดร้านอาหารที่ชื่อไวท์คาสเซิลในปี 1921 ส่วนชีสที่นำมาใส่ในแฮมเบอร์เกอร์นั้น มาจากเชฟจากร้านอาหารที่ชื่อ ไรท์สปอต ในเมืองพาซาดีนา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ผู้ที่ทำให้ชื่อเสียงของแฮมเบอร์เกอร์แบบฟาสต์ฟู้ดได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในยุคปัจจุบันก็คือ เรย์ ครอก ผู้ริเริ่มเปิดตัวร้านแมคโดนัลด์ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 นั่นเอง
หลายคนพูดว่าแฮมเบอร์เกอร์ เป็นอาหาร Junk Food หรืออาหารขยะ หรือก็คือ อาหารที่มีคุณค่าน้อย แต่มีแคลอรี่สูง เป็นอาหารที่มีเกลือผสมอยู่เป็นจำนวนมากและมีคาร์โบไฮเดรตมากมาย ดังนั้นแฮมเบอร์เกอร์ (สำหรับบางร้าน) จึงจัดว่าเข้าข่ายอาหาร Junk Food หรืออาหารขยะเต็มๆ แต่ถ้ามองถึงความเป็นจริงแล้วการเลือกรับประทานของเราเองก็มีผลเช่นกัน เพราะแต่ละครั้งที่เลือกสั่งเรามักมีของแถมมาด้วยเสมอ อาทิ มันฝรั่งทอด น้ำอัดลม หอมทอด และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งของแถมเหล่านี้ล่ะที่มาเสริมสร้างพลังงานส่วนเกิน และทำให้ความเป็นอาหารขยะทวีค่าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
อย่างที่บอกไปแล้วว่าแฮมเบอร์เกอร์เป็นที่นิยมกันมากในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงมีร้านอาหารต่างๆผลิตแฮมเบอร์เกอร์ชั้นดีออกมา โดยแต่ละร้านจะเลือกวัตถุดิบชั้นดีทุกอย่างในการปรุง จึงทำให้อาหารจานนี้ครบถ้วนไปด้วยคุณค่า และปราศจากคำว่า Junk Food หรือ อาหารขยะไปอย่างสิ้นเชิง และอาหารทุกอย่างล้วนก็มีทั้งประโยชน์และโทษกันทั้งนั้น แต่ถ้าหากเรากินในปริมาณเหมาะสมก็จะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและร่างกายของเรา ทั้งนี้อยากแนะนำให้ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเพื่อสุขภาพที่ดี