ขนมซัง หรือที่คนปักษ์ใต้มักจะเรียกว่า หนมซัง เป็นขนมทำมาจากข้าวเหนียว นำไปห่อกับใบไผ่ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วมัดด้วยเชือก ก่อนที่จะนำไปนึ่งให้สุกเสียก่อน หลังจากนั้นก็สามารถนำไปรับประทานได้เลย จะคล้ายๆกับข้าวต้มลูกโยนซึ่งเป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลออกพรรษา ห่อด้วยใบพ้อหรือยอดมะพร้าวเป็นรูปรี ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมถั่วดำไม่มีไส้ผูกเข้าด้วยกันเป็นพวงแล้วนำไปต้ม
ขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้นี้จะกินเปล่าๆก็อร่อยนุ่มลิ้น หรือจะเพิ่มความหวานจิ้มน้ำตาลอ้อยก็อร่อยไปอีกแบบ หรือจะให้ถึงใจต้องนำใส่ในน้ำเชื่อมเติมน้ำแข็งลงไปรับรองจะติดใจ หลายๆคนคงนึกถึงชื่อว่าขนมนี้ คือ ขนมจั้ง เพราะแถวๆจังหวัดสุราษฎร์ธานีเขามักจะเรียกกันแบบนี้ ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจจะเรียกแตกต่างกันไป เช่น ขนมจ้าง ขนมซั้ง ขนมจั้ง กีจ่าง เป็นต้น
ขนมจ่าง กีจ่าง หรือ จั้ง เป็นขนมประเพณีของจีน ทำขายกันในเทศกาลบ๊ะจ่างปลายเดือน 6 และค่อนข้างจะขายดี เพราะเป็นขนมประเพณีไหว้บรรพบุรุษคนจีนที่คนจีนเคารพนับถือมาก การทำขนมจ่างเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ที่คนเก่าแก่เท่านั้นที่ทำได้และปิดบังเป็นความลับมานมนานแล้ว ดั้งเดิมเป็นขนมพื้นเมืองของประเทศจีน ต่อมาได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ เนื่องจากคนจีนสมัยก่อนได้อพยพย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น บ้างก็ไปทำการค้า บ้างก็ไปทำงาน ดั่งคำกล่าวเสื่อผืนหมอนใบที่เราๆ เคยได้ยิน กระทั่งสืบทอดลงมายังภาคใต้บ้านเรา
วิธีกินก็สามารถกินได้ตามแบบที่แต่ละคนชอบ บางคนแกะใส่ในน้ำเชื่อมแล้วโรยหน้าด้วยน้ำแข็งเย็นๆ ก็กินได้อร่อยชื่นใจดี หรือบางคนก็ใส่ในน้ำแข็งใส หรือจะกินแบบง่ายๆ คือ จิ้มกินกับน้ำตาลทรายก็อร่อยดี ตำนานความอร่อย นับวันยิ่งหากินยากมากเพราะด้วยขาดคนทำ เป็นขนมไม่มีไส้ ห่อด้วยใบไผ่ เนื้อของกีจ่าง น้ำด่างจะมีสีเหลืองใส กินคู่กับน้ำตาลทรายแดง ในสมัยก่อนคนที่มีลูกหลานมากๆ การทำกีจ่างกินกันเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำง่าย ลงทุนต่ำ หรือจนแทบไม่ต้องซื้ออะไรเลย
เดี๋ยวนี้ต้นไผ่ถูกรุกล้ำและแทนที่ด้วยสวนยางพาราบ้าง สวนปาล์มบ้าง ดังนั้น วัฒนธรรมการกินขนมซังจึงเริ่มเลือนหายไป อย่างน่าเสียดาย..