คนส่วนใหญ่มีความกังวลมากมายเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ทั้งเรื่องครอบครัว เงิน งานและสุขภาพของตนเอง ด้วยความที่เป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะความรู้สึกจะเปราะบางเป็นพิเศษ คิดว่าตัวเองเป็นภาระเสมอ ส่งผลให้สุขภาพจิตและร่างกายย่ำแย่ลงไปด้วย แต่การยอมรับและเห็นความสำคัญของตนเองช่วยสร้างความมั่นใจ ส่งผลให้จิตใจรู้สึกกระชุ่มกระชวยเหมือนตอนเป็นหนุ่มสาว


โดยแบ่งผู้สูงวัยเป็น 3 ช่วง คือ


1. อายุระหว่าง 60-69 ปี คือผู้ที่เพิ่งเริ่มย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี อาจมีโรคประจำตัวบ้าง เช่น เบาหวาน ความดัน ดังนั้นควรเน้นการป้องกันหรือประเมินหาความเสี่ยงของโรค เช่น ตรวจภาวะกระดูกพรุน ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็อายุ 80 ปีไปแล้ว


2. อายุระหว่าง 70-85 ปี เป็นช่วงอายุที่เริ่มมีโรคประจำตัวมากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ขณะเดียวกันผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็อยากจะพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ดังนั้นต้องทำให้ผู้สูงอายุคงคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย เช่น ดูแลกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อไม่ให้ติด ช่วยให้ผู้สูงอายุเดินได้แม้มีภาวะเข่าเสื่อม และได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างพอเพียง เป็นต้น


3. อายุตั้งแต่ 86 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่พึ่งตัวเองได้ลดลงและต้องการการดูแลจากลูกหลานญาติพี่น้อง พยาบาลหรือผู้ดูแลพิเศษ ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวัยนี้จะเป็นการอบรมหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลในเรื่องต่าง ๆ อาทิ โภชนาการ กายภาพบำบัด และให้ผู้ดูแลเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของผู้สูงอายุ


ผู้สูงอายุสามารถมีความสุขได้ด้วยวิธีดันี้


1. ดูแลเรื่องโภชนาการ


ดูแลเรื่องโภชนาการในผู้สูงอายุเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและลดความรุนแรงของโรคต่าง ๆ โดยผู้สูงอายุควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (ข้าว แป้ง และน้ำตาล) และไขมัน (น้ำมันจากสัตว์ พืช ไข่แดง เนย) เน้นทานโปรตีนโดยเฉพาะเนื้อปลา แต่ไข่แดงควรกินไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ กินผัก ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ ให้มาก เลือกกินผลไม้รสไม่หวานจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดโรคตามมาได้ ดูแลเรื่องการใช้ยาในผู้สูงอายุซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะโอกาสเกิดอันตรายจากการใช้ยาในผู้สูงอายุมีมาก ดังนั้น ลูกหลานจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด


2. โอนอ่อนผ่อนตามความเห็นของลูกหลาน


ผู้สูงอายุควรรู้จักโอนอ่อนผ่อนตามความเห็นของลูกหลาน คิดเรื่องต่าง ๆ ด้วยความยืดหยุ่นว่าทำอะไรจึงจะอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนอื่นได้อย่างดีที่สุด และเกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด มีความสุขมากที่สุด


3. หากิจกรรมที่สร้างอารมณ์ขัน


เหมือนที่เขาพูดกันว่าการหัวเราะเป็นยาวิเศษ เมื่อหัวเราะหรือยิ้มจะมีสารเอ็นโดฟินเป็นสารแห่งความสุขหลั่งออกมา เช่น ดูภาพยนตร์ตลก ละครตลก วาไรตี้ทอล์กโชว์ เพื่อช่วยให้มีความสุข คลายความกดดันลงสร้างความรู้สึกที่ดี และอายุยืนมากขึ้น


4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การออกกำลังกายยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน แต่ผู้สูงอายุจะเน้นการออกกำลังกายเบา ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ ละ 20-30 นาที เช่น เดิน วิ่งช้า เต้นรำ รำมวยจีน เพื่อชะลอความเสื่อมด้านร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บปวด และมีอายุยืนมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้ออกกำลังกาย


5. เตรียมใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


เตรียมใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยนี้ เช่น สูญเสียสมรรถภาพทางกาย ลูกหลานจากไปมีครอบครัว หรือทำงานในเวลากลางวัน บางครั้งต้องอยู่ตามลำพังคนเดียว


6. ดูแลสุขอนามัย


ผู้สูงอายุ ควรลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างอๆ สังเกตการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบขับถ่าย และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จัดสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพที่ถูกต้องเหมาะสม มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างพอเหมาะ มีความปลอดภัย พื้นต้องไม่ลื่น มีราวจับเพื่อช่วยในการทรงตัว โดยเฉพาะสถานที่ที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว บริเวณบันไดขึ้น-ลง เป็นต้น โดยปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น นอนไม่หลับในเวลากลางคืน, กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะเล็ดราดบ่อยครั้ง, พลัดตกหกล้มง่าย หากการดูแลไม่ดีพออาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อนและนอนติดเตียง ภาวะสับสนฉับพลัน (delirium) ซึ่งอาจเกิดอันตรายในระยะยาวหรือถึงแก่ชีวิตได้


7. ปล่อยวาง คิดแต่สิ่งดี ๆ


ให้คิดถึงแต่สิ่งดี ๆ รู้จักปล่อยวาง ไม่ควรคิดถึงแต่ความตาย มองความตายให้เป็นเรื่องปกติเพราะทุกคนล้วนต้องตายอย่างเท่าเทียมกัน หรือคิดถึงอดีตไม่ดีที่ผ่านมา ถ้ารู้ตัวว่าคิดลบอยู่ ควรหยุดความคิดนั้น เพื่อให้สมองจำแต่สิ่งดี ๆ หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ดี ชีวิตก็จะมีความสุขไปด้วย


ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังภาวะโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น หากมีโรคประจำตัวควรพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง รับประทานยาสม่ำเสมอ