อาการปวดหลังปวดเอวถือเป็นปัญหาสุขภาพที่มักพบบ่อยในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่กับที่ และจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะต้องเผชิญกับอาการที่เกิดจากการอักเสบและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดตามตัว รวมถึงปวดหลังเรื้อรังตามมา ซ้ำร้ายอาการปวดบางประเภทยังเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจจะมีโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย
ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณเอว หรือด้านหลังส่วนล่าง โดยจะเกิดอาการปวดตรงใต้ซี่โครงและเหนือกระดูกเชิงกราน ซึ่งคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว หรือผู้สูงอายุ ก็สามารถที่จะเกิดปัญหาปวดเอวได้ทั้งสิ้นหากรูปแบบการใช้ชีวิตขาดความระมัดระวัง ถ้าหากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงชั่วคราว ก็สามารถที่จะทำการดูแล แก้ไข ไปตามลักษณะของอาการเพื่อให้ความเจ็บปวดเลือนหายไปได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าหากมีอาการปวดเอวต่อเนื่องกันนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป อาการปวดเอวเรื้อรังนี้ก็อาจจะรักษาด้วยตัวเองได้ยาก และควรที่จะไปทำการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรักษาต้นตอของปัญหาอย่างเหมาะสมและถูกวิธี
วิธีลดอาการปวดเอวเบื้องต้น
1. ประคบร้อนและเย็น
สำหรับบางคนที่มีอาการปวดหลังในระยะเริ่มต้น การประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง จะช่วยลดแผลอักเสบหรือการบวมได้ด้วยการลดการไหลของเลือด การวางถุงน้ำแข็งลงบนบริเวณที่เพิ่งเริ่มปวด แบบไม่เกิน 48 ชั่วโมง สามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยให้วางไว้ 20 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ส่วนการประคบด้วยความร้อน จะช่วยในการบรรเทาการปวดของกล้ามเนื้อ โดยหาจุดที่ปวดให้เจอแล้วประคบร้อนบริเวณนั้น เนื่องจากความร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดขยาย เหมาะสำหรับอาการปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ เมื่อหลอดเลือดขยาย จะส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และอาการปวดจะบรรเทาลง โดยเฉพาะหลังการปวด 48 ชั่วโมงไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็นความร้อนแบบแห้งหรือการแช่น้ำร้อนก็สามารถช่วยได้เหมือนกัน
2. นอนราบแผ่นหลังติดพื้น
หาที่นอนที่ไม่นุ่มและไม่แข็งจนเกินไป แต่มีพื้นแบนราบพอที่จะนอนลงไปได้สบาย ๆ ดันแผ่นหลังให้ติดพื้น เกร็งหน้าท้อง ค้างไว้ 10 วินาที แล้วพัก จากนั้นทำซ้ำราว 2-3 ครั้ง ช่วยให้แผ่นหลังที่อ่อนล้า กลับเข้ามาอยู่ในสภาพปกติ จัดเรียงกระดูกและกล้ามเนื้อให้กลับมาเข้าที่เหมือนเดิม เห็นทำง่าย ๆ แค่นี้ แต่ได้ผลดีเชียวล่ะ
3. นั่งไขว้ขา บิดเอว
ได้ผลดีหากปวดหลังส่วนล่าง หรือส่วนใกล้เอว เริ่มจากนั่งขัดสมาธิบนพื้น ยกขาขวาวางพาดทับขาซ้าย ขาซ้ายงอเข่านอนลงชิดพื้น ขาขวาตั้งเข่าขึ้น มือขวาแตะพื้น มือซ้ายแตะท้ายทอย จากนั้นเอียวตัวไปทางขวาจนสุด ค้างไว้ 5-7 วินาที จากนั้นกลับมาหน้าตรง วางมือซ้ายบนพื้นข้างลำตัว มือขวาแตะท้ายทอย บิดเอวไปทางขวา ค้างไว้ 5-7 วินาที จากนั้นสลับข้าง และสลับมือ บิดเอวทั้ง 2 ข้าง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อส่วนหลัง โลหิตไหวเวียนในบริเวณหลัง เอว ได้ดียิ่งขึ้น
4. คลายปวดหลังด้วยการนวด
อาการปวดหลัง เอว และขา สามารถคลายความปวดได้ด้วยการนวด ซึ่งสามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงใช้สองมือกดและบีบเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้ต่อมและอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น โดย ท่าแรกนั่งขัดสมาธิ กำหมัดทั้งสองวางไว้บริเวณบั้นเอว หายใจเข้าพร้อมกดมือ แอ่นหน้าอก กลั้นหายใจนับ 1-5 หายใจออกพร้อมคลายแรงกด ท่าที่สองขยับกำปั้นมาบริเวณที่กลางบั้นเอว หายใจเข้าพร้อมกดมือ แอ่นหน้าอก กลั้นหายใจนับ 1-5 หายใจออกพร้อมคลายแรงกด จากนั้นให้ใช้กำปั้น ทุบหรือคลึงเบา ๆ ไปที่หลังตรงที่มีอาการปวด ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
หากความปวดนั้นยังคงมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือปวดหลังร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง ชาที่ขา เท้า หรือรอบทวารหนัก เนื่องจากอาจเป็นภาวะฉุกเฉินของกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเคลื่อน ให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์กระดูกสันหลัง ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป