การเป็น “ครูยุคดิจิทัล” ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยี พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน อีกทั้งในเรื่องของเครื่องมือ สื่ออุปรณ์ การสื่อสารทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการแสวงหาความรู้ที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทาย
ครูยุคใหม่ จำเป็นต้องมีความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อต่อยอดความรู้ เพิ่มทักษะ ความรู้ หรือแสดงถึงศักยภาพที่ตนมีเพื่อสอนศิษย์ การที่ครูมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์และต่อยอดในการสอน ให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้การสอนน่าสนใจ เพิ่มสีสันให้การเรียนให้ไม่น่าเบื่อ และทันต่อความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอีกด้วย
ครูยุคใหม่ต้องไม่ใช่ผู้สอน แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนได้ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเรียนรู้โดยเชื่อว่าเขามีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ ครูต้องสร้าง growth mindset ต้องเชื่อในการเติบโตทางความคิดของเด็ก
ดังนั้นในโลกยุคใหม่ ครูกับโรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็ก เราต้องยอมรับ ตรงนี้อาจไม่ใช่ความเท่าเทียม แต่มันเป็นโอกาสของความเสมอภาค คำว่าเสมอภาคคือเขาได้รับโอกาสในการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน
“Society Inclusive School” คือการเปิดพื้นที่ให้เด็กเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น มีมุมมองที่แตกต่างไปว่าภายใต้ความบกพร่องของเพื่อนที่เราเห็น เขามีความอัจฉริยภาพซึ่งดีกว่าเราอีก ถ้าครูยุคใหม่ไม่เปิดโอกาส แยกเด็กเก่งกับเด็กอ่อนออกจากกัน สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น
ครูยุคใหม่ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับบรรยากาศในชั้นเรียน พร้อมส่งเสริมทักษะที่จำเป็นกับเด็กผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งแบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียนด้วย พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน สืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยตนเองได้
ครูยุคใหม่ควรกระตุ้นให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด และกล้าแสดงความเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์และสามารถปรับใช้ได้ในชีวิต พร้อมทั้งสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ กระตุ้นให้เด็กคิดอย่างมีเหตุผล การสังเคราะห์สิ่งต่างๆแล้วสร้างเป็นแนวคิดใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเด็กในการเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง
ครูยุคใหม่ควรเปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอนให้เป็นผู้ฟัง เนื่องจากเด็กยุคใหม่เริ่มมีความคิดเห็น หรือแนวคิดที่ต่างออกไป ซึ่งครูจะต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราว สิ่งที่ชอบทำ ชอบดู หรือประสบการณ์ที่พบเจอนอกห้องเรียน เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ทำให้รู้จักตัวตนของเด็กมากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางในการรับรู้ความชอบของผู้เรียนแต่ละคนได้อีกด้วย
ครูยุคใหม่ควรสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งจากสังคมทั่วไปและสังคมออนไลน์ โดยการเชื่อมโยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าไปในบทเรียนเพื่อให้เด็กได้เกิดการคิดต่อยอด และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้