แมวเบงกอล (Bengal) แมวป่าที่ผสมกับแมวบ้านจนเกิดลวดลายสวยงาม รูปร่างหน้าตาไม่ต่างจากแมวบ้าน ดูไปดูมาเหมือนลูกเสือดาวน้อยเลยค่ะ
แมวเบงกอล เป็นแมวขนาดปานกลางถึงค่อนข้างใหญ่ หัวมีความยาวมากกว่ากว้าง เพราะถูกผสมโดยควบคุมลักษณะให้มีรูปร่างคล้ายแมวป่า เพรียว ยาว เห็นมัดกล้ามเนื้อแบบนักล่าชัดเจน โดยจะมีความสูงส่วนสะโพกสูงกว่าความสูงของช่วงไหล่ หางส่วนมากจะมีปลายชี้ลง ใบหูกลม สั้น ตารูปไข่ (Oval) ช่วงโคนหนวดเด่น ช่วงปากและรอบจมูกกลมกว่าแมวบ้าน จุดที่เด่นที่สุดของแมวเบงกอล ได้แก่ ลายและสีขนที่อาจเป็นจุดแบบแมวป่าหรือลายหินอ่อน
หากเริ่มสนใจจะหาเจ้าเหมียวพันธุ์เบงกอลมานอนกอดสักตัว ควรเลือกซื้อแมวเบงกอลที่มีโครงสร้างใหญ่ ลำตัวยาว มีลวดลายบนตัวที่เด่นชัดขนาดเท่าหัวแม่มือ จุดด้านข้างลำตัวมีขนาดใหญ่และเรียงตัวอย่างไม่เป็นระเบียบในแนวนอน แมวเบงกอลบางตัวจะมีลวดลายโรเซตที่เป็นจุดขนาดใหญ่ที่มีสีอ่อนกว่าตรงกลาง จุดคล้ายๆกับลายของเสือจากัวร์ ซึ่งเป็นที่ต้องการมากกว่าแมวที่มีจุดสีเดียวตามปกติ
นิสัยของเจ้าแมวเบงกอลก็ไม่ได้ดุดันอย่างที่กำลังคิดกันด้วยนะ แถมยังเชื่องแสนเชื่อง เป็นมิตร ชอบอยู่กับคน น่ารักและคล่องแคล่วปราดเปรียว มีนิสัยชอบวิ่งไล่สิ่งของหรือวัตถุ ชอบปีนป่าย ชอบไล่จับหนู หากไม่มีอะไรให้เล่นก็จะเล่นด้วยตัวเอง มีเสียงร้องที่ฟังแล้วเหมือนแมวป่าค่อนข้างมาก
ส่วนสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าที่คงหลงเหลือให้เห็นอยู่ กลับกลายเป็นลักษณะเด่นของแมวเบงกอล นั่นคือ ความมั่นใจในตนเอง ความกล้าหาญ ไม่ขลาดกลัว และความเฉลียวฉลาดในการเอาตัวรอด และที่แตกต่างจากแมวเกือบทุกชนิดอย่างมาก คือ แมวเบงกอลมีนิสัยชอบเล่นน้ำอย่างมาก
ปัจจุบันแมวเบงกอลเริ่มเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น แต่อาจยังไม่แพร่หลายเหมือนแมวชนิดอื่นๆ เนื่องจากยังมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งแมวเบงกอลราคาอยู่ที่ประมาณ 17,000-170,000 บาท ดังนั้นเมื่อตัดสินใจซื้อมาแล้วควรใส่ใจดูแลอย่างดี ซึ่งวิธีการเลี้ยงก็ใกล้เคียงกับแมวทั่วๆไปเพราะถือเป็นแมวบ้านเช่นเดียวกับแมวสายพันธุ์อื่น
แต่ถ้าหากอยากให้แมวสวย สุขภาพดีและมีขนที่สวยงาม การเลือกอาหารที่ดีให้กับแมวนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อาหารสำเร็จรูปที่ดีจะช่วยให้คุณมั่นใจว่าขนและสุขภาพของแมวนั้นจะสวยที่สุด ส่วนเรื่องของการตัดเล็บ อาบน้ำ แปรงขน เช็ดหู และทำความสะอาดส่วนต่างๆจะเหมือนกับแมวทั่วไป
เรื่องอาหาร แมวเบงกอลอาจจะต้องการเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากกว่าแมวทั่วไปเล็กน้อย โดยผู้เลี้ยงอาจจะให้เนื้อวัวสดวันละครั้งเพิ่มเติมจากอาหารที่กินอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะไม่ทำให้ท้องเสียหรือเสียสุขภาพ เนื้อสดที่ให้ควรระมัดระวังความสะอาดด้วยการแช่แข็งเอาไว้เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรียและควรเก็บเนื้อที่เหลือทิ้งทันที อย่างไรก็ตามห้ามให้เนื้อไก่หรือเนื้อหมูสดเด็ดขาด