“แตงโม” ผลไม้ที่มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา สำหรับประเทศไทย การปลูกแตงโมมีอยู่ทั่วทุกภาคและปลูกได้ทุกฤดู พันธุ์ที่นิยมจะมีอยู่ 3 สายพันธุ์หลัก คือ พันธุ์ธรรมดาทั่วไป (เมล็ดมีขนาดเล็ก รสหวาน เช่น แตงโมจินตหรา แตงโมตอร์ปิโด แตงโมกินรี แตงโมน้ำผึ้ง แตงโมไดอานา แตงโมจิ๋ว ) สายพันธุ์ไร้เมล็ด และพันธุ์กินเมล็ด ปลูกเพื่อนำเมล็ดมาคั่ว โดยพันธุ์นี้จะมีเนื้อมาก บทความนี้ได้รวบรวมประโยชน์ของแตงโมมาฝากกันค่ะ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
ประโยชน์ของแตงโม
1. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดน้ำ
แตงโมได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ฉ่ำน้ำ เนื่องจากมีน้ำประกอบอยู่มากถึงประมาณ 90% ยกตัวอย่าง แตงโมสุก 100 กรัม มีน้ำ 91.4 มิลลิลิตร และการรับประทานอาหารที่มีน้ำในปริมาณมากอาจช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ เช่น การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การลำเลียงสารอาหารไปสู่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายตื่นตัวอยู่เสมอ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดน้ำ
2. อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุนานาชนิด
รู้ไหมว่าแตงโมมีดีมากกว่าที่เห็น เพราะเขาอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ โพแทสเซียม แมงกานีส และยังมีวิตามินบี 1 อีกด้วยนะ ซึ่งวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้แหละที่มีส่วนช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงและช่วยต้านโรคต่าง ๆ ด้วย
3. บำรุงสุขภาพหัวใจ
แตงโมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลและช่วยให้ความดันของเลือดเป็นปกติ จึงมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ ป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ทำให้หัวใจแข็งแรง ที่สำคัญสารอาหารในแตงโมยังดีต่อหัวใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี แมงกานีส และโพแทสเซียม
4. ดีต่อผมและผิว
ในแตงโมมีวิตามินเอและซี ทำให้สรรพคุณของแตงโมนั้นดีต่อผมและผิว เพราะวิตามินทั้งสองชนิดนี้มีส่วนช่วยบำรุงผิว ช่วยให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยชะลอความชราและริ้วรอยก่อนวัย ทำให้เส้นผมที่เกิดใหม่แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดและทำให้ผิวสามารถต้านทานแสงแดดได้ดีขึ้น
5. อาจช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
แตงโมเป็นผลไม้รสหวานที่ให้พลังงานต่ำ หากรับประทานแตงโมเป็นอาหารหวาน หรือเป็นของว่างรองท้องระหว่างมื้ออาหารในปริมาณพอเหมาะ อาจส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักมากกว่าการรับประทานเบเกอรี่ หรือขนมคบเคี้ยว โดยงานศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยซานดิเอโก (San Diego State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งได้วิจัยเกี่ยวกับผลของการบริโภคแตงโมสดกับการตอบสนองต่อความอิ่มแบบฉับพลันและความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่ (อายุ 18-55 ปี) ที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน โดยให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกรับประทานแตงโมสดทุกวัน ๆ ละ 2 ถ้วย (ประมาณ 300 กรัม) ซึ่งให้พลังงาน 92 กิโลแคลอรี่ และให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่ 2 รับประทานคุกกี้ที่ให้พลังงานเท่ากัน เป็นเวลาทั้งหมด 4 สัปดาห์ พบว่า แตงโมสดช่วยให้อิ่มและอยู่ท้องนานกว่าคุกกี้ โดยสามารถลดความหิวและความอยากอาหารได้นานกว่า 90 นาทีหลังรับประทาน นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานแตงโมสดยังมีรอบเอวเล็กลง น้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ทั้งยังมีระดับสารต้านอนุมูลอิสระและไขมันในเลือดที่สมดุลขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การรับประทานแตงโมมากเกินไป อาจทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ควรรับประทานแตงโม เพราะน้ำแตงโมอุดมไปด้วยน้ำตาล ผู้ป่วยโรคไต รับประทานได้แต่น้อย เพราะไตจะทำงานได้ไม่เต็ม 100% อาจจะทำให้มีการบวมน้ำ ผู้ที่กำลังเป็นหวัด อาจจะทำให้มีระยะเวลาเป็นหวัดที่นานมากขึ้นหรือหายช้า