"เม็ดบัว" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ลูกบัว" เป็นส่วนของเมล็ดที่อยู่ฝักของบัวหลวง ลักษณะเป็นเม็ดกลม มีเนื้อด้านในเป็นสีขาวอมเหลืองนวล มีรสหวานมันปนฝาดเล็กน้อย และถ้าดิบมากก็จะออกรสหวานน้อยลงไปหรือออกรสจืดไปเลย
ความหวานจากน้ำตาลในเม็ดบัวจะเปลี่ยนเป็นแป้งเหมือนการย่อยในร่างกายนั่นเอง ที่เป็นอย่างนั้นก็เพื่อที่บัวหลวงหนึ่งฝักจะเตรียมไว้เพื่อเลี้ยงต้นอ่อนที่เป็นไส้ สีออกเขียวอ่อนๆที่อยู่กลางเมล็ดหรือที่เรียกว่า "ดีบัว" ซึ่งจะเจริญไปเป็นต้นของบัวหลวงต่อไป ในบัวหนึ่งฝักจะมีเม็ดบัวประมาณ 7-10 เม็ด
การกินเม็ดบัวเพื่อการบำรุงเลือด มีข้อแม้ว่าต้องเป็นการทานเม็ดบัวสดเท่านั้น เม็ดบัวที่ผ่านการแปรรูปมาแล้วหรือการนำมาต้มให้สุกจะใช้ไม่ได้ เม็ดบัวเชื่อมที่ใส่ในไอศกรีมก็ใช้ไม่ได้ค่ะ
สารในเม็ดบัว อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี มีโปรตีนประมาณ 23 เปอร์เซนต์ เกลือแร่ ฟอสฟอรัส มีสรรพคุณในเรื่องบำรุงสมอง บำรุงประสาท บำรุงไต ป้องกันมะเร็งตับเพราะไปฆ่าเชื้อราช่วยในรักษาอาการท้องร่วงและบิดเรื้อรัง ใช้กันเป็นยาบำรุงเลือดหรือเพิ่มเลือดด้วยค่ะ ที่สำคัญที่สุดดีบัวที่ขมๆ แก้โรคหัวใจ
การเลือกกินเม็ดบัวส่วนใหญ่ที่เราเห็นทั่วไป จะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนซึ่งจะมีเมล็ดขนาดใหญ่ ผ่านการกะเทาะเปลือก ดึงดีบัว(ต้นอ่อนที่ฝังอยู่กลางเมล็ดมีสีเขียวเข้ม)ออกและอบแห้งแล้ว
ส่วนเม็ดบัวไทยนั้นไม่ค่อยพบวางจำหน่ายในท้องตลาด เนื่องจากมีเมล็ดเล็กจึงไม่เป็นที่นิยม แต่จากผลการวิจัยของอาจารย์ปริญดา ที่ศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสารแอนติออกซิแดนต์ในเม็ดบัวไทยและจีนพบว่า เม็ดบัวไทยมีปริมาณสารแอนติออกซิแดนต์สูงกว่าเม็ดบัวจีน 5-6 เท่า อาจารย์ปริญดาจึงแนะนำว่า ถ้าต้องการให้ร่างกายได้รับสารแอนติออกซิแดนต์ปริมาณสูงควรเลือกกินเม็ดบัวไทยดีกว่า โดยเฉพาะเม็ดบัวไทยสด
ส่วนเคล็ดลับการเลือกซื้อให้ได้ของสดใหม่ คุณภาพดีมีดังนี้ค่ะ
1. ชนิดฝักสด เลือกฝักที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ สีเขียวอ่อน จะได้เม็ดบัวที่มีเนื้อกรอบ หวานกำลังดี
2. ชนิดอบแห้ง
• ควรเลือกเมล็ดที่มีสีเหลืองนวล ถ้ามีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าเป็นเม็ดบัวเก่าที่เก็บไว้นานแล้ว เมล็ดไม่แตกหัก และไม่มีฝุ่นละอองปนเปื้อน
• ขั้วเมล็ดไม่ดำคล้ำ เพราะจะเป็นเมล็ดที่เก็บไว้นานแล้ว
• ไม่มีกลิ่นสาบหรือเหม็นหืน
รู้ประโยชน์และสรรพคุณของเม็ดบังแบบนี้แล้ว คราวนี้ถ้าเจอฝักบัวสดในตลาดอย่าลืมซื้อติดไม้ติดมือมาคนละสองสามกำนะคะ