อะโวคาโดเป็นต้นไม้พื้นเมืองของเม็กซิโกในรัฐปวยบลา ในประเทศไทยมีการนำมาปลูกครั้งแรกที่จังหวัดน่าน ก่อนจะแพร่ขยายไปทั่วประเทศ โดยอะโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีเนื้อมันเป็นเนย ลักษณะของผลจะมีรูปร่างคล้ายสาลี่ หรือรูปไข่จนถึงรูปกลม


อะโวคาโด เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานกันมากในแถบยุโรปและอเมริกา เพราะมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลากหลายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก แต่สำหรับบางคนแล้วกลับไม่ชอบรับประทานอะโวคาโดเอาเสียเลย เพราะเป็นผลไม้ที่ไม่มีรสหวานและมีไขมันสูง ผลไม้ชนิดนี้จึงถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย


วิธีทำน้ำอะโวคาโด


1. การทำน้ำอะโวคาโด อย่างแรกให้เตรียมวัตถุดิบดังนี้


• ผลอะโวคาโดหั่นเป็นชิ้นเล็ก 1 ถ้วย


• มะเขือเทศล้างสะอาด 1 ผล


• น้ำมะนาว 1 ช้อนชา


• น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา


• น้ำเปล่า


• น้ำแข็ง


• เกลือป่น 1/4 ช้อนชา


2. นำผลอะโวคาโดที่หั่นเตรียมไว้ใส่ลงไปในเครื่องสกัดแยกกากออก ให้เหลือแต่น้ำอะโวคาโด


3. นำมะเขือเทศที่เตรียมไว้ใส่ลงในเครื่องสกัดแยกกากออก ให้เหลือแต่น้ำมะเขือเทศ


4. หลังจากนั้นให้นำน้ำอะโวคาโด น้ำมะเขือเทศที่ได้มา น้ำมะนาว น้ำผึ้ง เกลือป่น น้ำเปล่าเล็กน้อย คนจนละลายเข้ากัน นำใส่แก้วและน้ำแข็งดื่มแก้กระหายได้เลย


ประโยชน์ของอะโวคาโด


1. เป็นแหล่งของกรดไขมันชนิดดี


อะโวคาโดมีไขมันชนิดดี คือกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated fatty acids) ถึง 70% ซึ่งมีประโยชน์ต่อหลอดเลือดแดง เพราะจะช่วยลดไขมันเลวในหลอดเลือด เช่น คอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (Low Density Lipoprotein-LDL) และไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดโอกาสเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและโรคหัวใจวายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้


2. บำรุงระบบประสาทและสมอง


หนุ่มสาววัยทำงานที่ต้องใช้แรงกายแรงสมองในการทำงาน ควรรับประทานอะโวคาโดเป็นประจำ เพราะในอะโวคาโดมีกรดโอเลอิก (Oleic Acid) ซึ่งมีผลดีและจำเป็นต่อระบบประสาทและสมอง โดยกรดไขมันชนิดนี้อาจช่วยลดความเหนื่อยล้าของสมอง และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองได้ดีมากยิ่งขึ้น


3. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง


ในอะโวคาโดมีวิตามินอี ซึ่งมีฤทธิ์ในการช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษรอบตัวทั้งจากภายในและภายนอก ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงได้ เพราะในอะโวคาโดมีลูทีน (Lutien) เป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มแคโรทีนอยด์ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าสารสกัดอะโวคาโดอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ แต่การศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและมีข้อจำกัดค่อนข้างมากจึงไม่สามารถยืนยันสรรพคุณในข้อนี้ได้


4. บำรุงดวงตา


อะโวคาโดยังเป็นแหล่งของวิตามินอี แคโรทีน รวมทั้งลูทีน ซีแซนทีน ที่มีคุณสมบัติบำรุงดวงตาให้แข็งแรง การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รับประทานอะโวคาโดมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อมซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุน้อยลง


5. ลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า


อะโวคาโดเป็นแหล่งที่ดีของโฟเลต ช่วยป้องกันการสะสมของโฮโมซิสเทอีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตบกพร่องและส่งสารอาหารไปยังสมอง อันเป็นความผิดปกติของความรู้ความเข้าใจ และสามารถแปรให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้


อะโวคาโดผลดิบไม่สามารถรับประทานได้ เพราะมีสารแทนนินในปริมาณมากและมีรสขม หากรับประทานในปริมาณมากอาจจะทำให้ปวดศีรษะได้ ดังนั้นควรรับประทานแต่ผลสุก สำหรับบางรายอาจมีอาการแพ้อะโวคาโดได้ โดยอาจจะแพ้ในรูปของละอองเกสร หรือแพ้หลังจากการรับประทานอะโวคาโดก็ได้ โดยอาการที่ปรากฏก็ได้แก่ ปวดท้อง อาเจียน ผื่นคัน ลมพิษ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้