ปลาทอง สัตว์เลี้ยงตัวเล็ก ๆ ที่ช่วยผู้เลี้ยงคลายความเครียดได้ และใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่เยอะมาก นอกจากจะเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่คนนิยมเลี้ยงกันมากแล้ว ยังสามารถเลี้ยงไว้ประดับห้องต่าง ๆ ให้น่าอยู่ได้อีกด้วย แต่ปลาทองนั้นค่อนข้างจะบอบบางและตายง่าย ผู้เลี้ยงจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ดั้งนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะเลี้ยงเจ้าปลาทองตัวน้อยไปนาน ๆ บทความนี้ได้รวบรวมวิธีการเลี้ยงปลาทองที่ถูกต้องมาฝากกัน
1. ใช้น้ำที่ปราศจากคลอรีนหรือน้ำกรอง
หลายคนยังเข้าใจว่า การใช้น้ำประปามาเลี้ยงปลาปลาสวยงามเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งก็ถูก…แต่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว แต่ต้องอย่าลืมว่าน้ำประปาที่ไหลมาตามท่อส่งน้ำ และเข้าสู่ก็อกน้ำนั้นมีส่วนผสมของสารคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค เป็นขั้นตอนการผลิตน้ำของการประปา ซึ่งคลอรีน จะทำลายเนื้อเยื่อตัวปลา รวมถึงครีบและหาง ทำให้ปลาว่ายน้ำไม่ได้และตายในที่สุด วิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้น้ำจากเครื่องกรองน้ำ หรือน้ำประปาที่ผ่านการกักไว้ประมาณ 3 วันขึ้นไป สารคลอรีนจะระเหย ก็สามารถนำมาเลี้ยงปลาได้
2. ต้องมีอากาศหรือออกซิเจนในน้ำ
ปลาทองส่วนใหญ่เคยชินกับสภาพน้ำที่ต้องมีออกซินเจน ดังนั้น อย่างน้อยในภาชนะเลี้ยงต้องมีการหมุนเวียนเบา ๆ ไม่ว่าจะผ่านระบบกรองน้ำ น้ำพุ น้ำตก หรือปั๊มน้ำ เพราะการหมุนเวียนของน้ำ เป็นการทำให้เกิดการเติมออกซิเจน และปลาทองขนาดใหญ่ย่อมต้องการออกซิเจนมากกว่าปลาเล็ก ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมคือ 28-35 องศาเซลเซียส แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาอุณหภูมิของน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว หากซื้อปลาบรรจุถุงมา เวลาจะปล่อยปลาลงในอ่างเลี้ยง ควรแช่ถุงลงในอ่างเลี้ยง 10-15 นาที เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำในถุงกับในอ่างถ่ายเทเข้าหากันจนใกล้เคียงกัน แล้วค่อยปล่อยปลาลงไป
3. เลี้ยงในตู้กระจกใสหรืออ่างซีเมนต์
ในการเลี้ยงปลาทองให้สุขภาพแข็งแรง และมีสีสันสดใส จำเป็นต้องใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่สถานที่เลี้ยงและภาชนะที่ใช้เลี้ยง โดยทั่วไปนิยมเลี้ยงในตู้กระจกใสและอ่างซีเมนต์ หากเลี้ยงในตู้กระจกควรเลือกขนาดที่มีความจุของน้ำอย่างน้อย 40 ลิตร ใช้เลี้ยงปลาทองได้ 12 ตัว แต่ถ้าเลี้ยงในอ่างซีเมนต์ ต้องคำนึงถึงแสงสว่าง ควรเป็นสถานที่ไม่อับแสง และแสงไม่จ้าจนเกินไป ทั้งนี้ ควรใช้ตาข่ายพรางแสง ประมาณ 60% ปิดปากบ่อ ส่วนสภาพของบ่อเลี้ยงควรสร้างให้ลาดเอียง เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ
4. ต้องให้อาหารเป็นเวลา แต่อย่าให้อาหารในปริมาณมาก
สำหรับปลาทองนั้น เป็นปลาที่หลายคนบอกว่ามีความจำสั้น คือมักจะกินอาหารได้ตลอดเวลาจนตายเลยทีเดียว ดังนั้นควรให้อาหารกับมันเป็นเวลา อาจจะเช้า-เย็น ในแต่ละครั้งต้องให้ปลากินหมดไม่เหลือ แล้วจึงค่อยให้ใหม่ เพราะหากให้อาหารเยอะเกินไป อาจทำให้ปลาท้องอืด ว่ายน้ำหัวทิ่มเสียการทรงตัวได้ และยังทำให้น้ำเสียเร็วอีกด้วย ซึ่งอาหารปลาทอง ก็มีหลายชนิด เช่น ลูกน้ำ หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ อาหารเม็ด
5. ไม่จับปลาด้วยมือเปล่า
บางคนชอบเล่นกับน้องปลาด้วยมือเปล่า และบางครั้งก็จับน้องปลาขึ้นมาเพื่อดูใกล้ ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะปลานั้นแสนบอบบาง หากจับด้วยมือเปล่าจะทำให้บอบช้ำได้ ควรใช้ที่ตักหรือสวิงค่อย ๆ ช้อนน้องขึ้นมาจะดีกว่า
6. ไม่เลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น
ไม่ควรเลี้ยงปลาทองรวมกับปลาชนิดอื่น นอกจากอาจจะกัดหรือทำร้ายกันเองแล้ว ยังแย่งอาหาร แย่งออกซิเจนกันอีกด้วย ซึ่งจะทำให้น้องปลาเครียดง่ายและตายไวขึ้น นอกจากนี้หากพบว่าปลาตัวไหนป่วยควรแยกออกจากตู้โดยทันที เพราะปลาทองเป็นปลาที่ไวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จึงอาจจะทำให้ตัวอื่น ๆ ป่วยตามได้ง่าย
การเลี้ยงปลาทองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใส่ใจกับภาชนะเลี้ยง สภาพน้ำ การให้อาหาร และหมั่นสังเกตเจ้าปลาตัวโปรดของคุณอย่างสม่ำเสมอ ก็จะได้ปลาทองสวย ๆ ไว้เชยชมไปนาน ๆ