กวางจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์ที่มีกีบ เคี้ยวเอื้องและมีเขาผลัดได้ กวางมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครคือเป็นสัตว์ที่ผลัดเขาได้ในเพศผู้ ยกเว้นกวางเรนเดียร์ที่เพศเมียมีเขาผลัดได้ด้วยเช่นกัน มีบางชนิดที่มีขนาดเล็กและมีเพียงเขี้ยวยาวเท่านั้นได้แก่ ชะมดเซ็ค (Musk Deer) ซึ่งมีอยู่ในทวีปเอเซียกลาง ในขณะที่เก้งมีเขาผลัดได้ที่ค่อนข้างสั้นและมีเขี้ยวยาวออกมาจากกรามบน
ในโลกนี้มีกวางอยู่โดยทั่วไป ยกเว้นในทวีปแอฟริกากลางและใต้เท่านั้นที่ไม่มีกวาง กวางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นได้แก่กวางมูสอลาสก้าซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตันเลยทีเดียว กวางชนิดนี้มีเขาผลัดได้ที่กิ่งของมันแผ่เป็นใบกว้างถึง 2 เมตร นับจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งของกิ่งเขา นอกจากนั้นในบรรดากวางทั้งหมดประมาณ 40 ชนิดที่มีในโลกนั้นกวางอเมริกาใต้ปูดู (Pudu) นับเป็นกวางที่มีขนาดเล็กที่สุด และเนื่องจากกวางเป็นสัตว์ที่มีเขาสง่าและสวยงาม ดังนั้นมันจึงถูกล่าอย่างกว้างขวางทั่วโลก จนทำให้ในปัจจุบันมีหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น สมันในประเทศไทยเป็นต้น
การจัดกลุ่มหรือ Taxonomic Classification ในวงศ์ของกวางซึ่งก็คือ Cervidae นั้นแบ่งออกได้อีกเป็น 4 ตระกูล (Sub – family) 17 ประเภท (Genus or genera) 40 สายพันธุ์ (Species) และอีกประมาณ 200 ชนิด สัตว์ในวงศ์กวางเกือบทุกชนิดนั้นเพศผู้จะมีเขาผลัดได้ (antlers) ซึ่งมีลักษณะเป็นกระดูกที่งอกออกมาจากกะโหลกศีรษะโดยอยู่ได้เพียงชั่งคราวก่อนที่จะหลุดไปในแต่ะละปีลักษณะที่พิเศษนี้เองที่ทำให้ต้องแบ่งแยกสัตว์พวกนี้ออกมาจากวงศ์ Bovidae กวางเมืองร้อน (Tropical Deer) ส่วนใหญ่พบที่ทวีปเอเซียตอนกลางและเอเซียตอนใต้ ไปดูกันเลยว่ากวางเมืองร้อนนั้นจะมีสายพันธุ์อะไรบ้าง
1. กวางม้าหรือกวางป่า
มีถิ่นกำเนิดที่ทวีปเอเชีย คือ อินเดีย มาเลเซีย สุมาตรา จัน ไต้หวัน ไทย ลาว เขมร และพม่า ลักษณะทั่วไปมีสีน้ำตาลเข้ม ขนสั้นและหยาบ ขนส่วนล่างของหางมักจะมีสีขาว หางยาวประมาณ 25 เซนติเมตร จะมีเขาเฉพาะในเพศผู้ อุปนิสัยชอบกินหญ้าและลูกไม้ต่างเป็นอาหาร หรืออาจกินใบไม้บ้าง ชอบออกหากินในเวลากลางคืน และชอบอยู่กันเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ 5 – 6 ตัว มักออกหากินดินโป่งเป็นอาหารเสริม ลักษณะรูปร่างมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงน่าจะให้ผลผลิตที่มากและยังเป็นกวางที่เหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ และเหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย
2. เนื้อทราย
เป็นสัตว์ป่าขนาดกลาง เป็นกวางที่มีเขาเฉพาะในเพศผู้ และผลัดเปลี่ยนเขาทุกปี เขาของเนื้อทรายจะมีลักษณะคล้ายกับเขากวางม้า แต่สามารถที่จะจำแนกความแตกต่างได้จากขนาดของกะโหลกและเขา หรือสังเกตจากกิ่งของเขาเนื้อทรายซึ่งจะทำมุมเป็นแหลมกับลำเขา ในขณะที่เขากวางม้าจะมนกว่าและเป็นรูปตัวยู ลักษณะสีขนมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมแดงและในบางตัวมีจุดสีขาวจาง ๆ ที่ลำตัวด้วย ขนาดเขาจะเล็กกว่ากวางม้าประมาณ 1 เท่า อุปนิสัยชอบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าโป่ง ไม่ชอบอยู่ตามป่าเขาสูง มักก้มหัวต่ำเวลาวิ่งมุดไปในพงหญ้า ไม่ชอบกระโจนหรือกระโดด หากินตามลำพัง ในปัจจุบันหาพบได้ยากมากในป่าธรรมชาติ แต่มีการเพาะเลี้ยงตามสวนสัตว์ของรัฐบาลและเอกชนหลายแห่ง
3. กวางดาว
กำเนิดในประเทศอินเดียและศรีลังกา นำเข้ามาเลี้ยงตามสวนสัตว์ในประเทศไทยตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวผู้มีความสูงวัดที่ไหล่ 84–86 เซนติเมตร น้ำหนักเต็มที่ 80–100 กิโลกรัม ตัวเมียสูง 75 เซนติเมตร น้ำหนัก 50–60 เซนติเมตร หากมองดูที่รูปร่างจะคล้ายกับเนื้อทรายมากเพราะเตี้ยและน้ำหนักไม่มาก สีของกวางดาวเป็นพื้นสีน้ำตาล ตลอดลำตัวถึงกลางหลังมีจุดขาวอยู่ทั่วไปจึงมองดูสวยงามมาก ที่บริเวณลำคอสีน้ำตาลอ่อนและส่วนขาหลังก็เช่นกัน เขากวางดาวเพศผู้จะคล้ายกับกวางม้าแต่มีขนาดเล็กกว่า กวางดาวชอบอยู่เป็นฝูง ขนาดประมาณ 20 ตัวขึ้นไปช่วงฤดูฝนผสมพันธุ์เพศผู้จะดุร้ายมาก ชอบต่อสู้กันจนกว่าจะสามารถครองฝูงตัวเมียได้ บางครั้งสู้กันถึงตายก็เคยปรากฏ ระยะอุ้มท้อง 234 วัน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว
4. กวางซีกา
เป็นกวางที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกและถูกนำเข้าไปเป็นสัตว์เลี้ยงในหลายพื้นที่บนโลก อดีตพบในตอนใต้ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนามไปจนถึงทางเหนือของรัสเซียตะวันออกไกล ปัจจุบันเกือบจะสูญพันธุ์แล้วในทุกพื้นที่ ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นที่มีประชากรหนาแน่น โดยชื่อ “ซีกา” มาจากภาษาญี่ปุ่น: โรมาจิ: 鹿 ทับศัพท์: shika แปลว่า “กวาง” กวางซีกาเป็นกวางขนาดกลางมีความสูงจรดหัวไหล่ 50-95 เซนติเมตร หนัก 30-70 กิโลกรัม เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย มีขนตามลำตัวสีน้ำตาลส้ม มีจุดสีขาวกระจายอยู่ทั่วไป หางสั้นมีสีน้ำตาลอ่อน ก้นมีสีขาว สีขนบริเวณด้านบนและด้านข้างลำตัวอาจมีสีที่เข้มกว่าสีขนบริเวณท้องและด้านในของขา มีเขาเฉพาะเพศผู้ เขามีกิ่งก้านแผ่ออกมาเพียงข้างละ 4 ก้าน มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ในป่าเบญจพรรณ หรือทุ่งหญ้า ในฝูงมักประกอบไปด้วยเพศเมียเป็นส่วนใหญ่ กวางเพศผู้มีการผลัดเขาทิ้งทุกปี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กวางชนิดนี้ ชอบอาศัยอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น มีนิสัยรักสงบไม่ดุร้าย ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ใช้เวลาในการตั้งท้องประมาณ 7-8 เดือนและออกลูกครั้งละ 1 ตัว
การเลี้ยงกวางในประเทศไทย จะเลียนแบบวิธีเลี้ยงและวิธีการทำฟาร์มมาจากประเทศนิวซีแลนด์ คือมีพื้นที่ให้กวางเดินเล่น และมีหลังคาไว้กำบังแสงแดด ปัจจุบัน มีผู้นิยมเลี้ยงกวางดาวกันในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกวางที่ชาวจีนนิยมนำเขาอ่อนไปใช้ทำยา ซึ่งมีสรรพคุณ คือ ช่วยบำรุงระบบประสาท และเป็นยาบำรุงกำลัง