ในปัจจุบัน การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) หรือ Port Authority of Thailand (PAT) บริหารจัดการท่าเรือในประเทศไทยทั้งหมด 5 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง


ท่าเรือแต่ละแห่งปฏิบัติการด้วยประสิทธิภาพที่เป็นเอกลักษณ์ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินหน้า พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยในตลาดการค้าโลก ท่าเรือสำคัญที่บริหารจัดการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีจำนวน 5 แห่งดังต่อไปนี้


1. ท่าเรือกรุงเทพ


ท่าเรือกรุงเทพนั้น เป็นท่าเรือที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ใจกลางของกรุงเทพ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเขตคลองเตยในกรุงเทพ เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าต่าง ๆ และเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 10 ล้านคน พร้อมทั้งรองรับสินค้ามูลค่าสูงและผลิตภัณฑ์ เพื่อการบริโภค รองรับการเชื่อมต่อ การขนส่งสินค้า จากทางแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และปลายทางทั่วประเทศผ่านการขนส่งหลายรูปแบบทั้งทางถนน ทางรางรถไฟ และทางน้ำ ถูกเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ไทยและการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยบริการขนส่งตรง (Direct Call) พร้อมบริการตู้สินค้าครบวงจร รองรับเรือสินค้าและเรือขนส่งชายฝั่งด้วยมาตราฐานบริการระดับสากล พื้นที่ของท่าเรือกรุงเทพนั้น มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 934 ไร่ มีความยาวหน้าท่ารวม 3,100 เมตร ระดับความลึกหน้าท่าเรือนั้น 8.2 เมตร สามารถให้บริการเรือสินค้าขนาดสูงสุด 12,000 เดตเวทตัน และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าโดยเฉลี่ย 1.5 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือกรุงเทพมีพื้นที่วางตู้สินค้าขาเข้า 147,600 ตารางเมตร คลังสินค้าขาเข้า 15 คลัง และคลังสินค้าขาออก 2 คลัง พร้อมให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว สถานีขนส่งตู้สินค้า


2. ท่าเรือแหลมฉบัง


ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักของไทยและท่าเรือประตูการค้าระดับโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อซัพพลายเชนสินค้าไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ท่าเรือแหลมฉบังปฏิบัติการท่าเทียบเรือโดยผู้ประกอบการท่าเทียบเรือระดับโลก (Global Terminal Operators :GTOs) สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าหลากหลายประเภท ซึ่งรวมไปถึงเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (Super Post Panamax) พร้อมขีดความสามารถในการกระจายสินค้าสู่กรุงเทพมหานคร และปลายทางทั่วประเทศ ผ่านการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ รวมทั้งให้บริการเช่าพื้นที่ประกอบกิจการโลจิสติกส์และธุรกิจอื่น ๆ ท่าเรือแหลมฉบังมีพื้นที่ท่าเรือทั้งหมด 6,341 ไร่ ประกอบไปด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้า 11 ท่า ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ 4 ท่า ท่าเทียบเรือ Ro/Ro 1 ท่า ท่าเทียบเรือโดยสารและเรือ Ro/Ro 1 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปประเภทเทกอง 1 ท่า ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง 1 ท่า อู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า พร้อมทั้งมีศูนย์การขนส่งสินค้าทางราง เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าภายในประเทศอย่างครบวงจร


3. ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน


ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เป็นประตูการค้าระหว่างไทยและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้แก่ ประเทศไทย ภูมิภาคจีนตอนใต้ สหภาพเมียนมาร์ และสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีความพร้อมในการสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ด้วยศักยภาพในการรองรับเรือสินค้าทั่วไป และเรือน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งยังมีความสะดวกในการส่งออกสินค้าประเภทรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีสินค้าส่งออกหลักเป็นเนื้อสัตว์แช่แข็ง ซึ่งมีปริมาณสินค้าผ่านท่าเฉลี่ย 40,000-50,000 ตันต่อปี พร้อมกับน้ำตาลทรายที่มีปริมาณการส่งออก 30,000-40,000 ตันต่อปี


4. ท่าเรือเชียงของ


ท่าเรือเชียงของเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าในลุ่มแม่น้ำโขง บริเวณชายแดนไทยกับแขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงพระบาง สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็ก และแพขนานยนต์ มีท่าเทียบเรือความยาว 180 เมตร กว้าง 24 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าทั่วไปขนาด 80-150 ตัน และสามารถรองรับรถบรรทุกในลานจอด 20-25 คัน อีกทั้งยังติดตั้งปลั๊กสำหรับตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ 10 ปลั๊ก ท่าเรือเชียงของเพียบพร้อมด้วยบริการท่าเทียบเรือ ความสะดวกในการขนส่งสินค้า บริการชำระค่าบริการพิธีการศุลกากรและบริการตรวจคนเข้าเมือง


5. ท่าเรือระนอง


ท่าเรือระนองนี้ เป็นประตูการค้าที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าฝั่งทะเลแถบอันดามัน ได้เชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าในกลุ่มประเทศ BIMSTEC เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา โดยท่าเรือระนองนี้มีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และรองรับการขนส่งสินค้าทุกประเภท ด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้าและท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ รวมทั้งเป็นฐานสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโครงการสำรวจและขุดเจาะ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในบริเวณอ่าวเมาะตะมะ ท่าเรือระนองนี้มาพร้อมกับท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่มีความกว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร สามารถที่จะให้บริการเรือสินค้าขนาดได้สูงสุด 12,000 เดตเวทตัน มีโรงพักสินค้า ขนาด 1,500 ตารางเมตร ลานวางสินค้าทั่วไปขนาด 7,200 ตารางเมตรและลานวางตู้สินค้าขนาด 11,000 ตารางเมตร ท่าเรือระนองได้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า ด้วยบริการตู้สินค้าที่ครบวงจร ตั้งแต่โรงพักสินค้า บริการชำระพิธีการศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง รวมไปถึงการให้บริการให้เช่าพื้นที่ประกอบการ