ในวันที่เรียนจบมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นเหมือนวันแรกของการก้าวเข้าสู่ชีวิตจริงอย่างแท้จริง เพราะจะต้องเปลี่ยนจากชีวิตการเรียนเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างเต็มตัว หลาย ๆ คนคาดหวังว่าจะต้องประสบความสำเร็จในชีวิต ได้ทำงานที่ใช่ มีความสุขกับการทำงาน และคาดหวังผลตอบแทนที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังสับสน ไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะไปทางไหน ทำอาชีพอะไรดี บทความนี้จึงได้รวบรวมแนวทางสำหรับนักศึกษาจบใหม่มาให้ดูกันค่ะ


1. ทำงานตามสายที่เรียนมา


พื้นฐานง่าย ๆ ตอบแบบทั่วไปคือก็แค่ทำตามแผนที่เคยมีไว้ตอนที่เลือกหรือตัดสินใจเรียนคณะนี้ไปอย่างไม่ลังเล ก็ต้องใช้ความรู้และความสามารถทั้งหมดที่ได้เรียนพร้อมกับสั่งสมความเข้าใจทั้งหมดไปใช้ทำงานที่ตอบโจทย์กับสิ่งที่ได้รู้มาให้ได้ดีที่สุด การเริ่มทำงานในสายอาชีพที่ตรงกับสิ่งที่เรียนจบมาไปทีละขั้นตอน ยื่นเรซูเม่บอกประวัติและความสามารถ ให้รู้ความถนัดหรือสิ่งที่ทำได้ดีเพื่อให้ได้มีงานทำในบริษัทที่ตรงกับความสามารถ ยังไงก็มีความรู้และรู้จริงจากสิ่งที่เราได้ศึกษามาเป็นเวลา 4 ปี จบแล้วเราก็ต้องทำงานสิ ไม่ต้องคิดเยอะ


2. รับงาน Freelance


อาชีพฟรีแลนซ์ (Freelance) ถือเป็นอาชีพตัวเลือกสำหรับคนยุคใหม่ที่นิยม สำหรับใครที่ไม่อยากทำงานประจำ เพราะมีความอิสระในรูปแบบการทำงาน เรื่องเวลา สถานที่ กระบวนการทำงานฟรีแลนซ์ พูดง่าย ๆ คือ หาลูกค้า ทำงาน/ส่งงาน และ รับเงิน ซึ่งผู้ที่ทำฟรีแลนซ์ต้องมีความรับผิดชอบอย่างมากในการจัดสรรเวลาและคงคุณภาพของงานให้ดีอยู่เสมอ เพราะคุณภาพของงานและรักษาเวลา มีผลต่อการจ้างงาน ซึ่งอาชีพนี้ส่วนมากจะเป็นสายงานนิเทศศาสตร์ หรือบริหาร นอกจากการสร้างตัวตนให้ตัวเองในรูปแบบพอร์ตผลงานแล้ว อาจจะเข้าร่วมสังคมใหม่ ๆ ในสายงานที่ต้องการ เช่น ไปงานนิทรรศการ งานที่สามารถพบเจอผู้คนใหม่ ๆ สร้างมิตรภาพ เพื่อทำให้รู้จักคนมากยิ่งขึ้น แต่หัวใจสำคัญของงานฟรีแลนซ์ ก็คือการรักษาเวลา คงคุณภาพของงาน และการคิดค่าแรง (ที่ต้องพูดคุย ทำความเข้าใจกันกับลูกค้าตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดการผิดใจกันในอนาคต)


3. ทำธุรกิจส่วนตัว


ไม่อยากทำงานประจำ ไม่ได้อยากทำงานฟรีแลนซ์ แต่อยากเป็นนายตัวเอง งั้นก็เป็นเจ้าของมันซะเลยสิ! การเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นความฝันของเด็กรุ่นใหม่หลายคน อยากทำอะไรของตัวเอง มีอิสระในชีวิต สร้างความมั่นคงด้วยตัวเอง อยากรวยเร็ว ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การทำธุรกิจส่วนตัวมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ต้องมีความต้องการทำในสิ่งนั้น มีความชอบ และที่แน่ ๆ คือมีความเสี่ยง การจะทำธุรกิจส่วนตัวต้องศึกษาในสิ่งที่จะทำอย่างรอบคอบ วิเคราะห์ในส่วนต่าง ๆ ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และ ไม่เคยเกิดขึ้น จะเป็นการสร้างจุดขายได้อย่างดีเยี่ยม หาจุดแข็งและจุดอ่อนให้กับธุรกิจ เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้วก็ลุยเลย การเริ่มต้นมันอาจจะเสี่ยง แต่ถ้าไม่เสี่ยง แล้วเมื่อไหร่จะได้เริ่มต้น ใช่ไหมล่ะ


4. ค้นหาตัวเอง


หลายต่อหลายคนมักจะรู้สึกเคว้งคว้างหรือตัดสินใจไม่ถูกหลังเรียนจบว่าจะไปต่อกับชีวิตตัวเองอย่างไรเพราะยังไม่ได้เจอสิ่งที่รู้สึกใช่ ส่วนวิชาหรือคณะที่เรียนมาก็ยังไม่ได้รู้สึกชอบ จึงยังหาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ว่าจบแล้วไปไหนหรือมีจุดมุ่งหมายใดที่จะก้าวไปข้างหน้า ลองได้ให้เวลากับตัวเองออกไปค้นพบตัวตนด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น เข้าคอร์สที่สนใจและไม่เคยเรียนมาก่อน หรือไปศึกษาต่อในสิ่งที่เราอยากรู้เพิ่มยิ่งขึ้น อาจจะทำให้ได้ค้นพบตัวเองในทางใหม่ ๆ หรือเข้าใจความชอบ ตอบเส้นทางของชีวิตตัวเองได้ชัดเจน


จริง ๆ แล้ว ชีวิตของแต่ละคน ก็ไม่ได้มีตัวเลือกแค่นี้หรอก ทุกคนสามารถสร้างตัวเลือกในชีวิตให้กับตัวเองได้อีกมากมายหลายทาง แปรเปลี่ยนไปตามเป้าหมายและความต้องการของแต่ละคน และถ้าหากว่าเพื่อน ๆ คนไหนยังสับสนกับเส้นทางนี้อยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะใคร ๆ ก็เคยเผชิญภาวะนี้กันมาแล้วทั้งนั้น ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ตั้งสติและให้เวลากับตัวเอง