เมื่อนึกถึงประเทศออสเตรเลีย สิ่งหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนต้องรู้จักนั่นคือ จิงโจ้ และลักษณะพิเศษที่จิงโจ้แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่ว ๆ ไปก็คือ ‘กระเป๋าหน้าท้อง’ ซึ่งลักษณะพิเศษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มที่เรียกว่า มาร์ซูเพียล (Marsupial)


นอกจากจิงโจ้แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นที่มีกระเป๋าหน้าท้อง ได้แก่ โคอาลา ชูการ์ไกลเดอร์ วอมแบต พอสซัม โอพอสซัม แทสมาเนียนเดวิล และอีกมากมายเกือบ 400 ชนิดที่เราอาจจะไม่คุ้นชื่อ โดยส่วนมากพวกมันส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลีย และมีอีกส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ บทความนี้จึงจะมาไขข้อข้องใจว่ากระเป๋าหน้าท้องของจิงโจ้นั้นมีประโยชน์อย่างไรกันแน่?


จิงโจ้ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในกระเป๋าหน้าท้องของเจ้าจิงโจ้จะมีลักษณะเป็นผิวหนังมีจุดขาว ๆ ดำ ๆ อยู่เต็มไปหมด ที่สำคัญในนั้นยังมีเต้านม 4 เต้า ไว้สำหรับให้นมลูก ๆ ของมันอีกด้วย ลูกจิงโจ้จะอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องตั้งแต่แรกเกิด ถึงประมาณ 5 เดือน จึงจะออกจากกระเป๋าเป็นบางครั้ง และเมื่อเติบโตแข็งแรงมากพอก็จะออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้ แต่ถ้ามีอันตรายมันก็จะกลับเข้าไปอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ทันที กระเป๋าหน้าท้องมีลักษณะเป็นผิวหนังที่พับห่อเป็นถุง ภายในเป็นผิวเปลือยไม่มีขน และมีหัวนมอยู่ในนั้น วิวัฒนาการกำเนิดกระเป๋าหน้าท้องนั้นยังเป็นเรื่องลึกลับ


กระเป๋าหน้าท้องไม่ได้มีประโยชน์แค่ใช้เป็นที่ปกป้องลูกน้อย ทั้งจากศัตรูและสภาพภูมิอากาศ แต่มันมีความสำคัญอย่างมากในการทำให้ระยะเวลาในการตั้งครรภ์ของแม่ลดน้อยลง การตั้งครรภ์นั้นเป็นกระบวนการที่อันตราย และมีความเสี่ยงสูงที่สุดกระบวนการหนึ่งของสัตว์ทุกชนิด เพราะอย่างแรกเลย การตั้งครรภ์ทำให้น้ำหนักของแม่เพิ่มขึ้น และมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป การเคลื่อนที่จึงทำได้ลำบากขึ้น มีความเสี่ยงต่อผู้ล่ามากขึ้น ดังนั้นการตั้งครรภ์สั้น ๆ แล้วคลอดลูกออกมาเลี้ยงต่อในกระเป๋าทำให้แม่จิงโจ้ไม่ต้องแบกรับน้ำหนักมากเป็นระยะเวลานาน แม่จิงโจ้สามารถที่จะเลือกทิ้งลูกไว้นอกกระเป๋าเพื่อเอาชีวิตรอดได้เมื่อต้องหนีผู้ล่า ในขณะที่แพะไม่มีทางเลือก ต้องอุ้มท้องที่มีน้ำหนักมากเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะทำให้มันหนีนักล่าไม่ทันการณ์ได้


นอกจากนี้ ในช่วงตั้งครรภ์นั้นระบบภูมิคุ้มกันของแม่สามารถทำอันตรายให้กับลูกได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของมนุษย์ที่แม่และลูกมีหมู่เลือด Rh ไม่ตรงกัน ร่างกายของแม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบ จะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาทำลายเซลล์เม็ดเลือดของลูกที่มีหมู่เลือด Rh บวก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแท้งได้ ความผิดปกติทางกายภาพอื่น ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ก็อาจเป็นอันตรายกับแม่ได้ด้วย เช่น อาการครรภ์เป็นพิษ ดังนั้นยิ่งลูกอยู่ในครรภ์นานเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้นเท่านั้น การตั้งครรภ์สั้น ๆ และคลอดลูกออกมาเลี้ยงต่อในกระเป๋าจึงเป็นข้อได้เปรียบ


และอย่างสุดท้าย การตั้งครรภ์ในระยะสั้น ๆ แล้วคลอดลูกออกมาเลี้ยงต่อในกระเป๋า สามารถทำให้แม่จิงโจ้พร้อมที่จะผสมพันธุ์รอบต่อไปได้เร็ว โดยทั่วไปแล้วเวลาที่เราเห็นจิงโจ้มีลูกตัวเล็ก ๆ โผล่ออกมาเล่นนอกกระเป๋า ก็มักจะบอกได้ว่าอาจมีลูกตัวเล็กหมายเลข 2 อีกตัวอยู่ในกระเป๋า และอาจกำลังตั้งครรภ์ลูกหมายเลข 3 อยู่ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นจิงโจ้จึงเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ ประโยชน์ของกระเป๋าหน้าท้องในสัตว์อย่างจิงโจ้ ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยมานาน