หมีขั้วโลก หรือ Polar Bear นั้นดูน่ารัก น่ากอด และเป็นกันเอง แต่อย่าเข้าใจผิดไป เพราะบางครั้งพวกมันเป็นนักล่าที่เชี่ยวชาญและดุร้ายไม่แพ้สัตว์อื่นเลย นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องรักษาระยะห่างและชื่นชมพวกมันจากระยะไกล มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เรารักหมีขั้วโลก พวกมันยังเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดจากขั้วโลกเหนือที่เย็นยะเยือก แต่จงระวัง เพราะสัตว์ตัวโตเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการล่าสัตว์บนน้ำแข็งได้อย่างสมบูรณ์แบบ บทความนี้จึงได้เอาเรื่องจริงของหมีขั้วโลกมาฝากกัน


หมีขั้วโลกเป็นสัตว์กินเนื้อบนพื้นดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ขั้วโลกเหนือ น้ำหนักตัวประมาณ 350 - 600 กิโลกรัม ด้วยน้ำหนักและขนาดของตัวที่ใหญ่โตนี้ จึงต้องหาอาหารให้ได้อย่างน้อย 2 ใน 3 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการตลอดทั้งปี หมีขั้วโลกจึงใช้เวลามากกว่า 50% ในการหาอาหารล่าเหยื่อโดยการหลบซ่อนตัวตามก้อนหิน หรือ น้ำแข็ง และย่องเข้าไปเงียบ ๆ เพื่อล่าแมวน้ำหรือวอลรัสเป็นอาหาร แต่เมื่อแผ่นน้ำแข็งละลายและบางลง กลายเป็นแพน้ำแข็งแผ่นเล็ก ๆ ซึ่งไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับฝีเท้าของหมีขั้วโลกได้ ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารเริ่มหายไป การหาอาหารจึงลำบากมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้น ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในอาร์กติกก็กำลังได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากในผืนน้ำแข็งยังเป็นที่เจริญเติบโตของสาหร่ายหลากหลายชนิดที่เป็นอาหารของแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ในทะเล ซึ่งเป็นอาหารของกุ้งและปลา โดยมีนก แมวน้ำและวาฬ มากินอีกทอดหนึ่ง และสุดท้ายสัตว์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นอาหารของหมีขั้วโลก ซึ่งอยู่ลำดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นการได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่อาหารนั่นเอง


ปัจจุบัน หมีขั้วโลกมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 22,000 – 31,000 ตัว ซึ่งกระจายตัวอยู่ใน 19 กลุ่มพื้นที่ในบริเวณอาร์กติกนี้ และในงานวิจัย Polar Bear Specialist Group ของ International Union for the Conservation of Nature Exploration ซึ่งได้เก็บข้อมูลพวกเราในปี 2549 และอีกครั้งในปี 2553 พบว่าจำนวนของหมีขาวบริเวณโบว์ฟอร์ตตอนใต้ ที่มีอยู่ประมาณ 1,500 ตัวนั้นลดลงเหลือเพียงประมาณ 900 ตัว และยังคงมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งหลัก ๆ แล้วเกิดจากมลภาวะและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปซึ่งส่งผลต่ออาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของหมีขั้วโลก หากเป็นเช่นนี้แล้ว ในอนาคตอาจจะสูญพันธุ์ได้


หมีขั้วโลกถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง (Vulnerable) เราอาจจะได้เห็นภาพข่าวของหมีขั้วโลกที่ซูบผอม หรือหมีขั้วโลกที่หิวโซจนต้องหาอาหารในถิ่นที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ คือ


1. สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกับการอยู่รอดของหมีขั้วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ละลายนานขึ้น ส่งผลให้หาอาหารยากขึ้น เพราะปกติแมวน้ำของโปรดมักจะหาได้บนบกหรือบริเวณแผ่นน้ำแข็ง พวกหมีต้องเดินทางไกลมากขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้น แต่มีอาหารน้อย ทำให้ตัวซูบผอม นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีลูกหมียากขึ้น เพราะในการตั้งท้อง แม่หมีจะต้องมีไขมันสะสมมากพอที่จะเลี้ยงลูกได้ เมื่อขาดสารอาหารที่จำเป็น การมีลูกก็ยากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือต่อให้คลอดออกมาแล้ว การที่ลูกหมีได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็ทำให้ไม่แข็งแรง จึงอยู่รอดได้ยาก


2. อุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่คืบคลานเข้าไปใกล้ การผลิตนอกชายฝั่งที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลกระทบในเรื่องของน้ำมันที่รั่วไหลมีโอกาสที่จะไปเปื้อนขนของหมี ทำให้การกักเก็บความอบอุ่นเป็นไปได้ยากขึ้น ต้องใช้พลังงานมากขึ้น หมีขั้วโลกอาจจะได้รับสารพิษจากสัตว์น้ำที่กินเข้าไป การทำ Seismic หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ อาจรบกวนการดำรงชีวิตของหมี


แต่สิ่งที่น่าตกใจคือพวกมันกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากทะเลน้ำแข็งที่อยู่ของพวกมันกำลังละลายด้วยความเร็วที่น่ากลัว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหมีขั้วโลกอาจจะสูญพันธุ์ในแถบอาร์กติกภายใน 100 ปี ในขณะที่โลกร้อนขึ้นเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ น้ำแข็งอาร์กติกก็หายไป ซึ่งหมายความว่าหมีเหล่านี้จะล่าอาหารได้ยากขึ้นจึงเสี่ยงที่จะอดอาหาร ดังนั้น แม้ว่าเราควรรักษาระยะห่างของกับหมีขั้วโลก แต่พวกมันก็ต้องการการปกป้องจากเราเช่นกัน