ปลากัดไทย ถูกยกให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ด้วยเอกลักษณ์ของปลากัดไทยที่มีความดุดันและในเวลาสงบก็อ่อนโยนมีเสน่ห์น่าดึงดูด ปลากัดเป็นปลาที่มีความผูกพันกับคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ใครที่หลงใหลปลากัด เรามาอ่านเรื่องราวของปลากัด สายพันธุ์ปลากัดสวยงามกันเลย
1. สายพันธุ์ปลากัดเลี้ยงเพื่อการกีฬา
• ปลากัดป่าหรือปลากัดทุ่ง: พบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ปลากัดป่าเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก สีพื้นฐาน เช่น สีเทาหม่น สีเขียว สีน้ำตาล ฯลฯ ปลากัดป่าเป็นปลาที่ว่องไว อึดทน กัดเก่ง สายพันธุ์ปลากัดป่าแยกย่อยออกไปอีกก็จะมี ปลากัดป่าใต้ ปลากัดป่าอีสาน และปลากัดป่ามหาชัย
• ปลากัดหม้อหรือปลาลูกหม้อ: เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่ถูกพัฒนามาจากปลากัดป่า โดยการนำพ่อพันธุ์ปลากัดป่าที่กัดเก่ง รูปร่างดี ไปผสมกับปลากัดป่าตัวเมีย ลูกปลากัดชุดแรกเรียกว่า “ปลาสังกะสี” เมื่อนำปลาสังกะสีไปเพาะเลี้ยงอีกหนึ่งรุ่น ลูกที่ออกมาจึงเรียกว่า “ปลาลูกหม้อ” เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่ตัวใหญ่และสวยกว่าสายพันธุ์ปลากัดป่าและปลากัดสังกะสี สีของปลาลูกหม้อส่วนใหญ่คือ สีน้ำเงิน สีแดง คราม เขียวคราม
• ปลากัดยักษ์: พัฒนาสายพันธุ์โดยคนไทย มีขนาดใหญ่กว่าปลากัดสายพันธุ์อื่นถึง 2 เท่า สามารถแบ่งปลากัดยักษ์ออกเป็น 3 ประเภท คือ ปลากัดยักษ์คีบสั้น ปลากัดยักษ์ครีบยาว ปลากัดยักษ์ป่าหรือปลากัดหม้อยักษ์
• ปลากัดมาเลย์: เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่ขึ้นชื่อเรื่องความหนังเหนียว เกร็ดแน่นและดุดัน หรือที่หลายคนเรียกว่าปลาลูกนอก เพราะนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลักษณะท่าทางน่าเกรงขาม
สายพันธุ์ปลากัดสวยงามที่เลี้ยงไว้ดูเล่น
• ปลากัดฮาร์ฟมูนหรือปลากัดพระจันทร์ครึ่งซีก: เป็นปลากัดสวยงามที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่หางใหญ่กว้าง แผ่เป็นครึ่งวงกลม กางได้กว่า 180 องศา ก้านหางของสายพันธุ์ปลากัดฮาร์ฟมูน จะมี 4 ด้านขึ้นไป
• ปลากัดคราวน์เทลหรือปลากัดหางมงกุฎ: จุดเด่นคือ ก้านครีบหางที่โผล่ยาวออกจากครีบหางคล้ายหนาม สายพันธุ์ที่สมบูรณ์จะต้องมีครีบหางที่แผ่ทับซ้อนกับครีบอื่นๆก้านครีบแตกออกสม่ำเสมอสวยงาม ขนาดตัวต้องไม่เล็กเกินไป หางและครีบสมส่วนกับลำตัว
• ปลากัดดับเบิลเทล: เป็นปลากัดสวยงามที่มีความโดดเด่นที่หางขนาดใหญ่ 2 แฉก หรือที่เรียกว่า หางคู่ เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่กลายพันธุ์มาจากปลากัดจีน เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่เกิดจากการกลายพันธุ์โดยบังเอิญ ไม่ได้ตั้งใจเพาะพันธุ์ให้มีลักษณะหางคู่ตั้งแต่แรก
• ปลากัดจีน: พัฒนามาจากปลากัดหม้อ โดยคัดปลากัดที่มีครีบยาวกว่าปกติ พัฒนาให้มีสีสันฉูดฉาดมากขึ้น มีลักษณะคล้ายงิ้วจึงเรียกสายพันธุ์ปลากัดชนิดนี้ว่า ปลากัดจีน โดยความยาวของหางและครีบจะยาวเท่ากับหรือมากกว่าความยาวของหัวและลำตัวรวมกัน
• ปลากัดหูช้าง: จุดเด่นอยู่ที่ครีบหูที่มีขนาดใหญ่พอๆกับครีบหาง เป็นการพัฒนาลักษณะครีบหูที่แต่เดิมเป็นสีใสให้มีรูปร่างและสีขาว รวมถึงมีขนาดใหญ่กว่าเดิมจนกลายมาเป็นหูช้าง (Dumbo Betta)
• ปลากัดแฟนซี: เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น พัฒนามาจากปลากัดหม้อ นำมาเพาะพันธุ์ให้มีสีสันหลากหลาย เรียกสีที่ได้แตกต่างออกไป เช่น ปลากัดโค่ย ปลากัดมาเบิ้ล ปลากัดซุปเปอร์เรด ปลากัดอสูร ปลากัดเรดดรากอน ฯลฯ
ปลากัดเป็นปลาที่คนไทยเพาะเลี้ยงเพื่อความสวยงามและเพื่อการแข่งขันกีฬาปลากัด จึงทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์และสีสันมากมาย หากใครสนใจจะเลี้ยงก็ควรศึกษาข้อมูลแต่ละสายพันธุ์เพิ่มเติมไปด้วยนะคะ