เมื่อเริ่มมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและตะวันตก ไทยเรารับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบที่หาได้ ตลอดจนนิสัยการบริโภคของคนไทยเอง จนบางทีคนรุ่นหลังแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าอะไรคือขนมไทยแท้ๆ อะไรที่เรายืมเค้ามา เช่น ทองหยิบ ทองหยอดและฝอยทอง หลายท่านอาจคิดว่าเป็นของไทยแท้ๆแต่ความจริงแล้วมีต้นกำเนิดจากประเทศโปรตุเกส โดย “มารี กีมาร์” หรือ “ท้าวทองกีบม้า”
“ท้าวทองกีบม้า” หรือ “มารี กีมาร์” เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอล มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา ภายหลังจากพวกซามูไรชุดแรกจะเดินทางเข้ามาเป็นทหารอาสาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่นานนัก
ชีวิตช่วงหนึ่งของท้าวทองกีบม้าได้เข้าไปรับราชการในพระราชวังตำแหน่ง “หัวหน้าห้องเครื่องต้น” ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์และเก็บผลไม้ของเสวย มีพนักงานอยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นหญิงล้วน จำนวน 2,000 คน ซึ่งเธอก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ชื่นชม ยกย่อง มีเงินคืนทองพระคลังปีละมากๆ
ระหว่างที่รับราชการนี่เอง มารี กีมาร์ ได้สอนการทำขนมหวานจำพวก ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ขนมผิงและอื่นๆให้แก่ผู้ทำงานอยู่กับเธอและสาวๆเหล่านั้นได้นำมาถ่ายทอดต่อมายังแต่ละครอบครัวกระจายไปในหมู่คนไทยมาจนปัจจุบันนี้
ทองหยอดเป็นขนมโบราณชนิดหนึ่งที่ท้าวทองกีบม้า เป็นผู้ปรุงอาหารหลวงโดยท่านได้นำเอาความรู้ที่มีมาแต่เดิมผสมผสานกับความรู้ท้องถิ่นปรุงแต่งอาหารขึ้นใหม่ จนเป็นที่รู้จัก คือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง (เดิมชาวโปรตุเกส กินกับเนื้อย่างเป็นอาหารคาว) นับเป็นขนมชั้นดี ใช้ในงานมงคลต่างๆซึ่งคนไทยเรายังถือเคล็ดกันอยู่จึงใช้ขนมที่ขึ้นต้นด้วยทอง เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลตามชื่อขนมนั่นเอง
โดยรสชาติของขนมทองหยอดนั้นจะมีรสหวานจากน้ำตาล อร่อยถูกปากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมาอย่างยาวนาน เพราะด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ทำให้เป็นขนมสุดโปรดของใครหลายคน มีการดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ ทั้งรวมในเบเกอรี่ ขนมปัง น้ำแข็งใส วางเป็นท็อปปิ้งบนชีสเค้ก ตลอดจนนำไปรวมกับขนมต่างก็ทำได้เช่นกันค่ะ