ภูเขาโชโมลังมา (Mount Qomolangma) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนจีน-เนปาลนั้น มีลมแรงพัดปะทะตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคมและเมษายน ส่วนช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เป็นฤดูฝนที่เกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมอินเดีย ด้วยเหตุนี้เดือนพฤษภาคมจึงเป็นช่วงที่สภาพอากาศสงบนิ่งมากที่สุดทำให้เหมาะแก่การปีนเขา
การวัดความสูงภูเขาโชโมลังมาต้องอาศัยเทคโนโลยีการสำรวจและทำแผนที่ทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ อาทิ การสำรวจด้วยดาวเทียมระบุตำแหน่งบนผิวโลก (GNSS) การปรับระดับน้ำตั้งเครื่อง มาตรวัดระยะ การตรวจวัดความลึกของหิมะด้วยเรดาร์ การตรวจวัดแรงโน้มถ่วง การตรวจวัดทางดาราศาสตร์ และการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม
ทั้งนี้ยอดเขาโชโมลังมา หรือจูมู้หลางหม่า (珠穆朗玛) ในภาษาจีนเป็นยอดเขาของเทือกเขาหิมาลัย ตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างจีนกับเนปาล โดยยอดเขาโชโมลังมาซึ่งเป็นภาษาทิเบตหรือที่รู้จักกันดีในชื่อยอดเขาเอเวอเรสต์ ถือว่ามีความสูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 8,844.43 เมตรตามการสำรวจวัดของสำนักการสำรวจและการทำแผนที่แห่งรัฐจีนในปี 2548
สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองลาซา ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ว่า จีนเตรียมจัดตั้งสถานีตรวจและบันทึกการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ระดับความสูง 8,800 เมตรบนภูเขาโชโมลังมา บริเวณชายแดนจีน-เนปาล ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงสุดในโลก
คณะวิจัยกล่าวว่าอุปกรณ์สำหรับจัดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศซึ่งมีน้ำหนักรวมราว 50 กิโลกรัมจะถูกแจกจ่ายให้กับบรรดานักปีนเขา ซึ่งจะช่วยกันขนขึ้นไปคนละไม่เกิน 7 กิโลกรัม โดยหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น สถานีแห่งนี้จะกลายเป็นสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่สูงที่สุดในโลก
ในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถานีแห่งนี้จะช่วยให้สามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต รวมถึงข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา อาทิ การเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม ความเร็วลม และความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งอาจเอื้อต่อการคาดการณ์ลมมรสุม และปัจจุบัน กลุ่มวิศวกรซึ่งรับผิดชอบในการจัดตั้งสถานีแห่งนี้ ยังอยู่ระหว่างรอสภาพอากาศที่สมบูรณ์สำหรับการปีนขึ้นไปบนภูเขาแห่งนี้