เขาว่ากันว่าวงการจาน ชาม เข้าแล้วออกยากมาก แต่เมื่อใจมันร่ำร้อง เห็นจาน ชามน่ารัก ๆ เมื่อไหร่ เป็นต้องซื้อกลับบ้านมาตลอด ถึงแม้พื้นที่จัดเก็บภายในบ้านจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการจัดเก็บจานชามจำนวนมาก ๆ สักเท่าไหร่นัก แต่เมื่อใจมันรักในการซื้อของใหม่เข้าบ้านบ่อย ๆ ก็ต้องรู้จักจัดเก็บจานชามและจัดการกับพื้นที่ที่มีอยู่ ให้เก็บของได้มากขึ้น


การเก็บจานชามที่ดีนั้น เมื่อถึงเวลาต้องหยิบจาน – ชามมาใช้งาน ก็หยิบได้อย่างสะดวก ไม่เผลอปัดจาน – ชามใบไหนตกแตกไปเสียก่อนจะได้ใช้งาน มาเริ่มเคลียร์พื้นที่การจัดเก็บ เพื่อเพิ่มที่พื้นที่สำหรับวางจาน – ชาม รวมถึงของใช้ในครัวชิ้นอื่น ๆ ได้แบบสบาย ๆ ครั้งต่อไปจะหยิบ จะซื้อจาน ชามเข้าบ้านใหม่ ก็ไม่ต้องคิดเรื่องเก็บที่ไหน เก็บอย่างไร ซื้ออีกกี่ใบก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นกังวล ก่อนที่จะพาไปดูเคล็ดลับจัดจานต่าง ๆ เราต้องจัดจาน-ชามในบ้านให้เป็นหมวดหมู่เสียก่อน



ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบจานที่มีอยู่


แยกจานออกเป็นกอง


แยกจานออกเป็นกองที่ใช้ทุกวัน และกองที่ใช้ในโอกาสพิเศษ หม้อ และกระทะ ควรแยกเป็นอีกกอง ส่วนแก้วน้ำ ก็อีกกองเช่นกัน



ขั้นตอนที่ 2 จัดระเบียบตู้เก็บจาน



จัดการตู้ให้โล่ง จากนั้นเช็ดทำความสะอาดให้เอี่ยม



เก็บจานที่ไม่ค่อยได้ใช้ ไว้ด้านบนหรือด้านล่างของตู้ที่พ้นจากสายตา โดยอาจนำจานมาห่อกระดาษก่อนเข้าตู้เก็บ เพื่อป้องกันฝุ่นหรือความสกปรก



เก็บหม้อและกระทะไว้ด้านล่างของตู้ เพราะเป็นสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก จึงควรเก็บไว้ให้ต่ำที่สุด



เก็บชามผสมอาหารและเครื่องครัวอื่น ๆ ไว้ในตำแหน่งที่หยิบสะดวก แต่ชิ้นไหนที่หนัก ให้เก็บไว้ด้านล่างของตู้



เก็บถ้วยและแก้วกาแฟไว้ที่เดียวกัน โดยคว่ำปากแก้วลงเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าไป และควรจะเก็บไว้ในชั้นล่าง ๆ ที่หยิบใช้ได้ง่าย ส่วนแก้วไวน์ควรเก็บในที่แขวนเฉพาะ หรือหากไม่มีให้วางตั้งขึ้น



วางจานที่คุณใช้เป็นประจำไว้ในตู้ใกล้กับอ่างล้างจาน หรือใกล้โต๊ะรับประทานอาหาร เพื่อให้หยิบใช้และเก็บคืนได้ง่าย โดยวางในระดับความสูงที่หยิบได้สะดวกด้วย



จากที่กล่าวมาเป็นเพียงขั้นตอนการเก็บจานเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในบทควาามนี้ยังนำเคล็ดลับการเก็บจานอื่น ๆ เก็บอย่างไรให้เป็นระเบียบและใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ มาฝากอีกด้วย


จัดเก็บภาชนะจานชามในลิ้นชัก


สำหรับการจัดเก็บภาชนะจานชาม ตู้เก็บจานชามที่ใช้ประจำควรอยู่ใกล้อ่างล้างจานและเครื่องล้างจาน ตู้ชั้นบนควรใช้เก็บจานชามใบใหญ่ที่ใช้เสิร์ฟอาหารเวลาจัดปาร์ตี้ ส่วนแก้วไวน์ควรติดตั้งที่แขวนแบบคว่ำ เพื่อป้องกันฝุ่นและการกระแทก ชั้นล่างควรเป็นที่เก็บจานชามและแก้วน้ำที่ใช้ประจำ ลิ้นชักด้านล่าง เหมาะสำหรับใช้เก็บจาน และเมื่อติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มที่วางจานเข้าไปก็จะสามารถเก็บจานได้เป็นระเบียบและมีพื้นที่เก็บมากขึ้น ลิ้นชักด้านบนสามารถเก็บช้อน ส้อม มีด และผ้าเช็ดปากได้อย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้ยังมีลิ้นชักซ่อน ที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บจานโดยยังคงความสวยงามภายนอกของลิ้นชักครัวไว้ได้



เก็บใส่ลิ้นชัก จาน ชาม ก็ไม่แตก ด้วยการกันกระแทกจากกระดาษลัง


แก้ไขปัญหาการเก็บจานชามในลิ้นชัก แล้วชอบไหลมารวมกัน บ่อยครั้งก็ทำให้ขอบจานใบโปรดบิ่นได้ จากการกระแทกที่ไม่ได้ตั้งใจ แก้ไขปัญหาด้วยตัวช่วยง่าย ๆ อย่างการใช้กระดาษลังหรือกระดาษลูกฟูก มาประกอบกันให้มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำมาวางคั่น ล๊อคตำแหน่งของจานชามแต่ละประเภท ไม่ให้ไหลมารวมกันขณะดึงลิ้นชักเข้า-ออก



นอกจากการประกอบกระดาษลังให้เป็นสามเหลี่ยมแล้วยังสามารถพับกระดาษลังเพื่อใช้ในการแยกประเภทของจานชามแต่ละประเภท แถมด้วยออฟชั่นการกันกระแทกเวลาเปิด – ปิดตู้ลิ้นชักเข้าออกอีกด้วยจ้า



ใครแข็งแรงกว่าต้องเป็นฐาน


นอกจากสีและรูปทรงของภาชนะ จาน ชาม ที่เป็นตัวกำหนดหมวดหมู่ของการจัดเก็บจาน-ชามแต่ละประเภทแล้ว วัสดุที่ใช้ทำจานชามเหล่านั้น ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรจะใส่ใจเวลาเก็บด้วยเหมือนกัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำหนัก ที่กดทับลงมามากเกินไป ลองนึกเล่น ๆ ว่าถ้าหากชั้นล่างของการเก็บจานแบบซ้อนกัน เป็นจานจากวัสดุที่มีความเปราะ แตกง่าย ถูกซ้อน ถูกทับ ด้วยเซรามิกหนา ๆ หลาย ๆ ชั้น ไม่นานคงเกินเป็นรอยร้าว และตามมาด้วยความเสียหายในที่สุด


อยู่ด้วยกัน(เป็นเซ็ต)ตลอดไป


จานชามที่มีลวดลายสวย ๆ หรือซื้อมาเป็นชุด สีของแต่ละใบถูกคิดมาให้อยู่ด้วยกันแล้วส่งเสริมให้สวยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น การเก็บแบบซ้อนทับกันอาจจะไม่เหมาะสม เพราะคงน่าเสียดายไม่น้อยที่ลวดลายและสีสันเหล่านั้น ไม่ได้ออกมาทำหน้าที่อวดโฉมให้เป็นอาหารตา การเก็บจานชามที่มาพร้อมกันเป็นชุดสามารถใช้ที่คว่ำจานช่วยจัดเรียงจานสวย ๆ ไล่ขนาดจากใบเล็ก ไปใบใหญ่



ไม่อยากตีชั้นแบบถาวร ใช้ชั้นวางของเพิ่มพื้นที่จัดเก็บอีกเท่าตัว


ลองสังเกตดูขนาดของชั้นเก็บของภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชั้นเก็บของใต้ซิงค์ล้างจาน ชั้นเก็บของแบบแขวนผนัง หรือชั้นเก็บของที่แยกตัวออกมาตั้งเดี่ยว ๆ แม้จะมีความกว้างของชั้นที่ค่อนข้างมากพอตัว แต่จำนวนของที่จัดเข้าใช้กลับใช้สอยพื้นที่ได้อย่างไม่เต็มที่ หรือยัดของใส่ไปจนเต็มชั้น แต่กลับไม่สามารถหยิบออกมาใช้งานได้เลย แนะนำให้แก้ปัญหานี้ด้วยการเสริมชั้นวางของขนาดเล็กเข้าไป เพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บได้มากขึ้น และยังเป็นตัวแบ่งการเก็บจานชามให้ไม่วุ่นวาย ไม่ทับซ้อนกัน สามารถใช้พื้นที่ในทุกตารางนิ้วเก็บของได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ออกแบบตะแกรงเก็บจานไว้เหนือซิงค์


สำหรับการเก็บของจานบางครั้งต้องใช้พื้นที่ที่กว้างพอสมควรเหมือนกันครับ ซึ่งก็อาจเป็นปัญหาในเรื่องการกินพื้นที่ส่วนอื่นๆ ตามมาด้วยและยังเกิดการเลอะเทอะของน้ำที่เกิดจาการล้างจานอีกด้วย อีกหนึ่งวิธีที่เราจะจัดการกับสิ่งนี้ได้คือ การออกแบบตะแกรงล้างจานเอาไว้เหนือซิงค์ไปเลยครับ พอล้างเสร็จก็วาง ส่วนน้ำติดอยู่ที่ภาชนะก็จะไหลลงมาที่ซิงค์ด้านล่างไม่ไปเลอะเทอะบริเวณส่วนอื่นๆ ของเคาน์เตอร์ครัว



สุดท้ายแล้วห้องครัวจะสวยและดูสะอาดตาแถมยังใช้งานได้ง่ายๆ เราก็ต้องเลือกวิธีจัดเก็บให้ถูกต้องและถูกใจในสไตล์การตกแต่งครัวในแบบที่เป็นเรา