เมื่อมองดูลำตัวของปลาหางนกยูง เราจะได้พบกับลวดลายสีสันสดใสที่เรียงลำดับอย่างงดงามบนพื้นผิวน้ำ เมื่อเห็นสีน้ำเงินเขียวสดใสร่วมกับแถบสีแดงเข้มที่แตกต่างออกไป มองเห็นถึงความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ของปลาหางนกยูงสิ่งมีชีวิตนี้อย่างชัดเจน


สำหรับปลาหางนกยูง เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก มีขนาดลำตัวประมาณ 3-7 เซนติเมตร จุดเด่นคือตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ แต่ในขณะเดียวกันตัวผู้จะมีสีสันและลวดลายบริเวณหางโดดเด่นกว่าตัวเมีย ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ในการคัดแยกสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นสายพันธุ์ปลาที่โตไวและเลี้ยงง่ายอีกด้วย


สำหรับประวัติความเป็นมาของปลาหางนกยูง


ปลาหางนกยูง มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Millions Fish หรือ Guppy หรืออีกชื่อเรียกว่า Live Bearing Tooth Carp พบถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ มักพบได้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น หมู่เกาะแคริบเบียนและแถบลุ่มน้ำแอมะซอน ต่อมาได้มีการพัฒนาสายพันธุ์จนกลายเป็นปลาสวยงามน้ำจืดชนิดสวยงามที่คนนิยมเลี้ยง นอกจากนี้การเลี้ยงปลาหางนกยูง สามารถพบได้ตามท้องตลาดทั่วไป และราคาก็ไม่ได้สูงมากขนาดนั้น ขั้นตอนการเลี้ยงก็ค่อนข้างง่าย เลยเป็นปลาที่คนนิยมเลี้ยงเพื่อความสวยงาม


สายพันธุ์ปลาหางนกยูงที่พบได้บ่อยในประเทศไทย


1. สายพันธุ์โมเสก (Mosaic)


ปลาหางนกยูงสายพันธุ์นี้ จุดเด่นคือมีครีบหลังและหางเป็นลายโมเสกตามชื่อสายพันธุ์ มีทั้งแบบเป็นแต้มใหญ่หรือลายต่อกัน โดยลําตัวอาจจะมีสีแตกต่างกันไป มีทั้งแบบมีลวดลายและไม่มีลวดลาย


2. สายพันธุ์ทักซิโด้ (Tuxedo)


ปลาหางนกยูงสายพันธุ์นี้ แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย คือแบบมีลวดลาย และแบบสีพื้น จากหัวไปถึงกลางลำตัวจะมีเพียงสีเงิน ตั้งแต่กลางลำตัวไปจนถึงโคนหางจะมีสีดำหรือน้ำเงิน สำหรับส่วนหางและครีบหลังมีสีและลวดลายแตกต่างกันไป


3. สายพันธุ์กราส (Grass)


ปลาหางนกยูงสายพันธุ์นี้ จุดเด่นคือมีแต้มสีดำ ในส่วนทั้งลำตัวและหางและจะกระจายอย่างสม่ำเสมอ


4. สายพันธุ์โซลิด (Solid)


ปลาหางนกยูงสายพันธุ์นี้ ทั้งลําตัว ครีบ และหาง จะเป็นสีเดียวกันทั้งหมด ไม่มีจุดหรือลวดลาย เรียกได้ว่าเป็นสีธรรมดาปกติค่ะ


อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาหางนกยูง


ปลาหางนกยูงกินได้ทั้งพืชและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ไรแดง ลูกน้ำไรทะเล รวมถึงอาหารปลาสำเร็จรูป หากเป็นอาหารสดควรนำมาทำความสะอาดก่อน โดยการแช่ในด่างทับทิมประมาณ 15-20 วินาที ก่อนนำไปให้ปลากินเป็นอาหาร และให้อาหารวันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้าและตอนเย็น เพื่อไม่ให้น้ำเกิดการเน่าเสีย หากพบว่าปลานกยูงกินอาหารไม่หมดควรตักเศษอาหารที่เหลือทิ้งทันที


โรคที่ควรระวังสำหรับปลาหางนกยูง


การเลี้ยงปลาหางนกยูง ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ง่ายแต่ก็ควรระวังเกี่ยวกับโรคจุดขาว โรคจากปลิงใส โรคจากหนอนสมอ และโรคแบคทีเรีย ซึ่งอาการเบื้องต้นสามารถสังเกตเห็นได้จากความผิดปกติภายนอกทั้งลำตัวและหางของปลาหางนกยูง นอกจากนี้อาจมีอาการท้องบวมหรือเกล็ดล่อนร่วมด้วย หากพบปลาหางนกยูงที่เป็นโรคควรแยกออกมาจากฝูงและรักษาตามอาการที่เจอ พร้อมกับทำความสะอาดตู้ปลาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาตัวอื่นๆติดโรค โดยสามารถหาซื้อสารเคมีหรือยาสำหรับรักษาโรคได้ที่ร้านอุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงามทั่วไป