นกยางหรือนกกระยาง(Heron, Bittern, Egret) นกในวงศ์ Ardeidae ปากแหลม ขายาว ตัวสีขาว บางชนิดตัวสีดำ น้ำตาล เขียว ชอบหากินตามชายน้ำและทุ่งนา กินปลา แมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ลักษณะโดยรวมคือเป็นนกน้ำที่มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่


มักพบเดินท่องน้ำหากินหรือยืนนิ่งบนกอหญ้าหรือพืชน้ำ คอยใช้ปากแหลมยาวจับสัตว์น้ำเล็กๆ หรือแมลงบนพื้นเป็นอาหาร ขณะบินจะพับหัวและคอแนบลำตัว เหยียดขาไปข้างหลัง ทำรังรวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่บนต้นไม้ ใช้กิ่งไม้สานกันอย่างหยาบๆ พบทั้งหมด 61 ชนิดทั่วโลก พบในประเทศไทย 20 ชนิดหากินในเวลากลางวัน


เกษตรกรทำนาอินทรีย์ต่างรู้ดีว่าการจับมือเป็นมิตรกับธรรมชาติ ไม่เพียงเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับครอบครัวชาวนาแต่ยังได้ความปลอดภัยต่อสุขภาพ จากการปลอดสารพิษเคมีกำจัดศัตรูพืชและลดค่าใช้จ่ายซื้อปุ๋ยเคมี ส่วนผลดีอีกอย่างทำให้นกกระยางนาคืนสู่ทุ่งนาช่วยแต่งเติมให้ธรรมชาติแลดูสวยงาม


จากเหตุการแบน 3 สารเคมีทางเกษตร พาราควอต คลอร์ไพริฟอส รวมถึงไกลโฟเซต ที่มีมาตรการจำกัดการใช้ หลายครอบครัวเกษตรกรหันกลับไปสู่วิถีทำนาอินทรีย์ซึ่งเป็นวิถีแต่ดั้งเดิมของคนยุครุ่นปู่ย่าตายาย เกษตรกรคนรุ่นใหม่จึงใช้เป็นจุดเปลี่ยน เริ่มทดลองทำนาอินทรีย์แบบค่อยๆปรับเปลี่ยน


ซึ่งเกษตรกรทำนาอินทรีย์ประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน อย่าง ธวัชชัย เอี่ยมจิตร์ ชาวนาใน ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท เขาศึกษาและทดลองทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2553 โดยเริ่มทดลองทำจาก 1 ใน 10 ของที่ดินเพื่อเปรียบเทียบเรื่องผลผลิตและต้นทุน จากนั้นค่อยๆเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์เป็น 5 ใน 10 จนในที่สุดเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ


เนื่องจากตามท้องนาในยุคนี้ส่วนมากทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ จึงพึ่งพาความสะดวกสบายจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช นั่นเองที่ทำให้นกกระยางนาจากหายไปเพราะถูกตัดห่วงโซ่อาหาร ในท้องนาไม่ค่อยมีอาหาร กุ้ง หอย ปู ปลาและแมลงศัตรูข้าวให้หากิน


กลับไปมองผลดีต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศของธรรมชาติตามท้องนาหวนกลับคืนมาเหมือนยุคทำไร่ทำนาแต่โบราณ ทำให้ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งวนกลับมาพร้อมกับ “นกกระยางนา” ที่คนยุคนี้อาจจะไม่ค่อยพบเห็นนัก