ภูเขาไฟ เป็นธรณีสัณฐานที่หินหนืดปะทุผ่านขึ้นมายังพื้นผิวของดาวเคราะห์ ภูเขาไฟมักเกิดขึ้นใกล้กับแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีภูเขาไฟที่เป็นข้อยกเว้น เรียกว่า จุดร้อนภูเขาไฟ (Volcanic Hotspot) วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับภูเขาไฟ เรียกว่า วิทยาภูเขาไฟ Vulcanology หรือ Volcanology นั่นก็คือการเกิดภูเขาไฟระเบิด


ภูเขาไฟระเบิด เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงอย่างหนึ่ง การระเบิดของภูเขาไฟ แสดงให้เห็นว่าใต้เปลือกโลกลงไปมีความร้อนสะสมอยู่มาก ภูเขาไฟเกิดจากหินหนืดร้อน เหลว (แมกมา) ที่อยู่ในส่วนลึกใต้เปลือกโลก เคลื่อนตัวด้วยแรงดันออกมาสู่ผิวของเปลือกโลก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และทางเคมีภายในเปลือกโลกขึ้น อัตราความรุนแรงของการระเบิดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระเบิด ความดันของไอ และความหนืดของลาวา ถ้าลาวาข้นมาก ๆ อัตราความรุนแรงของการระเบิดจะรุนแรงมากตามไปด้วย เวลาภูเขาไฟระเบิด มิใช่มีแต่ลาวาที่ไหลออกมาเท่านั้น ยังมีไอน้ำ ก๊าซ ฝุ่นผงเถ้าถ่านต่าง ๆ ออกมาด้วย พวกไอน้ำจะควบแน่นกลายเป็นน้ำ นำเอาฝุ่นละอองเถ้าต่าง ๆ ที่ตกลงมาด้วยกันไหลบ่ากลายเป็นโคลนท่วมในบริเวณเชิงเขาต่ำลงไป ยิ่งถ้าภูเขาไฟนั้นมีหิมะปกคลุมอยู่ มันจะละลายหิมะ นำโคลนมาเป็นจำนวนมากได้ ภูเขาไฟมักเกิดขึ้นตามแนวขอบของแผ่นเปลือกโลก ตามแนวเทือกเขาริมฝั่งมหาสมุทรของทวีปต่าง ๆ รวมทั้งในบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทร บริเวณรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิกจะมีภูเขาไฟเป็นจำนวนมากตามแนวขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก จนถูกขนานนามว่าเป็น “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of Fire) นอกจากนี้ก็มีที่มหาสมุทรอินเดียทางตอนเหนือและพบเพียงเล็กน้อยในทะเลแคริเบียน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบนเกาะไอซ์แลนด์


ภูเขาไฟมี 3 ลักษณะ คือ


1. ภูเขาไฟมีพลัง (Active Volcanoes) เป็นภูเขาไฟซึ่งเพิ่งเกิดการปะทุหรือกำลังจะมีการปะทุในอนาคต


2. ภูเขาไฟสงบ (Dormant Volcanoes) เป็นภูเขาไฟที่ไม่มีการปะทุแต่อาจจะเกิดขึ้นบางครั้งในอนาคต


3. ภูเขาไฟดับสนิท (Extinct Volcanoes) เป็นภูเขาไฟที่จะไม่เกิดการปะทุอีกเลย


หินภูเขาไฟ (อังกฤษ: Volcanic rock, ในบริบททางวิทยาศาสตร์ มักย่อเป็น volcanics) หรือ หินอัคนีพุ (Extrusive rock) คือหินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกของหินหลอมเหลวที่ไหลขึ้นมาบนผิวโลก ที่เราเรียกกันว่า ลาวา (Lava) ที่ไหลขึ้นมาสู่บนผิวโลกหรือใกล้ผิวโลกจากระเบิดของภูเขาไฟ จึงทำให้ลักษณะการเกิดหินอัคนีภูเขาไฟมีลักษณะที่มีเนื้อหินที่ละเอียด เพราะอัตราการเย็นตัวและตกผลึกของหินหลอมเหลวเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้หินอัคนีภูเขาไฟมีเนื้อหินหรือขนาดผลึกที่ละเอียด สังเกตผลึกหรือแร่ประกอบหินด้วยตาเปล่าได้ยาก เช่น หินบะซอลต์ หรือในบางครั้งก็เป็นเนื้อแก้วที่ไม่มีรูปผลึก เช่น หินออบซิเดียน และ หินพัมมิซ นอกจากนี้ยังมีหินอัคนีอีกชนิดหนึ่งที่เกิดจากการทับถมของเศษหินที่ได้จากการระเบิดของภูเขาไฟ เมื่อมีการเชื่อมประสานด้วยแร่ จะได้หินที่เรียกว่า หินอัคนีตะกอนภูเขาไฟ (Pyroclastic Rocks)


จากการศึกษาพบว่ามากกว่าร้อยละ 75 ของภูเขาไฟบนโลก คือ ประมาณ 637 ลูก จาก 850 ลูก เป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่และอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "วงแหวนของไฟ" (Ring of Fire) บริเวณตั้งแต่ทางตอนใต้ของประเทศซิลีขึ้นไปทางขอบตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ ถึงรัฐอาลาสกา โค้งไปยังตะวันออกของเอเชีย จากไซบีเรีย ลงไปจนถึงนิวซีแลนด์ และที่เหลืออีกร้อยละ 20 คือ ภูเขาไฟในอินโดนีเซีย และภูเขาไฟในญี่ปุ่น หมู่เกาะอาลิวเชียน และอเมริกากลางเป็นเขตที่มีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่ทั้งหมด พบว่าภูเขาไฟมักอยู่ตามขอบของแผ่นทวีป ซึ่งขอบเขตของ “วงแหวนของไฟ” นั้นเป็นบริเวณขอบทวีประหว่างแผ่นทวีปแปซิฟิก (Pacific Plate) กับแผ่นทวีปโดยรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนภูเขาไฟที่ยังมีพลังอื่น ๆ ได้แก่ เขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเกาะไอซ์แลนด์ พบว่าอยู่บริเวณขอบแผ่นทวีปเช่นเดียวกัน