คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อและรสชาติของหญ้าฝรั่นนัก เพราะมักจะใช้ในอาหารฝรั่งเศส จานหลักๆที่ใช้หญ้าฝรั่นปรุงก็เช่น Italian risotto, Spanish paella และแกงกะหรี่อินเดีย เอกลักษณ์ของหญ้าฝรั่นคือ กลิ่นที่เด่นชัด สีแดงเข้ม
ต้นหญ้าฝรั่น จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร และมีความสูงเฉลี่ยน้อยกว่า 30 เซนติเมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายหัวเผือกหรือหัวหอมมีอายุหลายปี ในประเทศไทยยังไม่มีการเพาะปลูกหญ้าฝรั่น
หญ้าฝรั่นเป็นพืชที่มีประวัติยาวนาน ในยุคกรีกและโรมันโบราณนำหญ้าฝรั่นมาทำเป็นน้ำหอม ในประวัติศาสตร์จีนพบว่ามีการนำหญ้าฝรั่นมาปรุงเป็นยาจีน แต่ปัจจุบันมีการใช้หญ้าฝรั่นเฉพาะแค่เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารกลุ่มประเทศตะวันออก ตะวันออกกลางและยุโรปเป็นหลักและยังถูกใช้เป็นสีย้อมผ้าอีกด้วย
ส่วนราคาของหญ้าฝรั่นที่ว่าแพงหูฉี่นั้น เอาแค่ว่าปริมาณแค่ 900 กรัมก็ต้องมีราคาถึง 1 แสนบาทแล้วเพราะขั้นตอนการปลูกและเก็บเกี่ยวที่ยากลำบากนั่นเอง แม้จะมีชื่อไทยว่า “หญ้าฝรั่น” แต่พิจารณาตามลักษณะของต้นแล้ว หญ้าฝรั่นนั้นเป็นไม้ดอกมีดอกสีม่วงและเพาะพันธุ์ด้วยหัว แต่ละดอกนั้นจะมีเกสรตัวเมียส้มซึ่งดอกหนึ่งมีแค่ 3 เส้นเท่านั้น
ส่วนที่นำมาใช้เป็นเครื่องเทศก็คือเกสรตัวเมียนี้แหละ ฉะนั้นหญ้าฝรั่นที่น้ำหนัก 1 ปอนด์ (453 กรัม) ต้องเก็บเกี่ยวมาจากหญ้าฝรั่นถึง 75,000 ดอก แล้วเจ้าเกสรตัวเมียนี่ก็บอบบางมากไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเกษตรมาทุ่นแรงได้ต้องเก็บเกี่ยวด้วยมือเท่านั้น
การปลูกหญ้าฝรั่นก็จุกจิกเช่นเดียวกัน หญ้าฝรั่นจะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่เหมาะสม จะต้องได้รับแสงแดดเต็มที่ในแต่ละวัน พื้นที่เพาะปลูกต้องระบายน้ำได้ดี ดินมีความชุ่มชื้นสามารถอุ้มน้ำได้แม้กระทั่งในช่วงฤดูร้อน ในวงการทำอาหารจะยกย่องให้หญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพดีนั้นต้องมาจากประเทศอินเดีย อิหร่านและสเปน
นอกเหนือจากเอกลักษณ์ทางด้านกลิ่นและรสชาติแล้ว นักวิจัยยังเผยว่าหญ้าฝรั่นมีประโยชน์ทางด้านโภชนาการอีกด้วย ช่วยทำให้อารมณ์แจ่มใส ลดภาวะอารมณ์ผิดปรกติก่อนมีประจำเดือน ช่วยในการลดน้ำหนักและอื่นๆอีกมากมาย
แต่การรับประทานหญ้าฝรั่นในปริมาณมากเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนตัว ตัวสั่น ผิวเหลือง มีเลือดกำเดาไหล มีเลือดออกบริเวณเปลือกตาและริมฝีปาก ถ่ายเป็นเลือด เลือดออกภายในมดลูกและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากพบอาการในเบื้องต้นต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ทั้งนี้จากการค้นคว้าและวิจัยพบว่าปริมาณการบริโภคหญ้าฝรั่นคือไม่ควรเกิน 1.5 กรัมต่อวัน