สิ่งโตเป็นสัตว์ที่เรามองว่าเป็น “เจ้าป่า” แห่งทุ่งหญ้าสะวันนา เรามักจะมองว่าสิงโตคือนักล่าผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสู้ได้อีกแล้วในป่า ซึ่งภาพของเราที่มีเมื่อเรานึกถึงสิงโตเราก็มักจะนึกถึงสิงโตตัวผู้ที่มีแผงคอสวยงาม


อย่างไรก็ดีหลายๆคนก็คงเคยได้ยินว่าสิงโตตัวผู้เป็นสัตว์ที่ขี้เกียจสุดๆ วันๆเอาแต่นอนเฉยๆปล่อยให้หน้าที่ในการล่าสัตว์หาอาหารมาให้ฝูงเป็นหน้าที่ของสิงโตตัวเมีย บางคนอาจมองว่านี่เป็นการสะท้อนภาวะ “ชายเป็นใหญ่” ตามธรรมชาติ ที่ตัวผู้ไม่ยอมทำมาหากิน เบ่งอำนาจให้ตัวเมียต้องทำมาหากิน


แต่ความจริงมันซับซ้อนกว่านั้นเพราะถ้าจะอธิบายให้ตรงก็คือนี่เป็นการ “แบ่งงานกันทำ” ตามลักษณะทางกายภาพ หรือให้ตรงกว่านั้นสิงโตตัวผู้ไม่ออกล่าเหยื่อ ปล่อยให้ตัวเมียออกล่าเหยื่อเป็นหลัก มันอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางกายภาพได้เลยว่า สิงโตตัวเมียเป็น “นักล่า” ที่ดีกว่า


สิงโตก็ดังเช่นสัตว์นักล่าส่วนใหญ่ที่อยู่ส่วนบนสุดของห่วงโซ่อาหาร การล่ามักจะเป็นไปกับสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า (เช่นพวกกวาง) ซึ่งสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่านั้นไม่ได้หมายความว่ามันอ่อนแอกว่าเท่านั้น แต่มันหมายความว่ามันมีความว่องไวปราดเปรียวกว่าด้วย ดังนั้นในแง่นี้สัตว์นักล่าที่ทั่วไปมักจะมีขนาดใหญ่กว่า จึงต้องมักจะต้องทำการ “ซุ่ม” ก่อนที่จะพุ่งเข้าหาเหยื่อและถ้าจัดการไม่ได้ก็ต้องวิ่งไล่กวดต่อ


การจะทำแบบนี้สิงโตตัวผู้ไม่เหมาะด้วยประการทั้งมวลถ้าเทียบกับสิงโตตัวเมีย เพราะสิงโตตัวเมียนั้นจะตัวเล็กกว่าสิงโตตัวผู้ตามธรรมชาติ และทำให้มีความว่องไวในการวิ่งมากกว่าหรือที่มากกว่านั้น สิงโตตัวเมียยังมีสีขนเรียบๆสีเดียวทั้งตัวทำให้เวลาซุ่มมันกลมกลืนกับภูมิประเทศ ในขณะที่แผงคออันโดดเด่นของสิงโตตัวผู้มันทำให้สิงโตตัวผู้ไม่เหมาะกับการซุ่มเท่าไร


สิงโตตัวผู้แม้ว่าจะไม่ถนัดการซุ่มหรือลอบสังหาร แต่ถ้าสู้กันต่อหน้าด้วยพลังงานดิบๆของกล้ามเนื้อ สิงโตตัวเมียไม่มีทางสู้สิงโตตัวผู้ได้ ซึ่งในแง่นี้สิงโตตัวผู้จึงมีหน้าที่เป็น “ผู้คุ้มครอง” ฝูง ที่คอยสู้กับสิงโตฝูงอื่นหรือสัตว์อื่นๆที่เข้ามารังควานฝูง เพราะการสู้กันต่อหน้าคืองานถนัดของสิงโตตัวผู้ที่ตัวเมียไม่มีความสามารถจะสู้ได้


ซึ่งลักษณะแบบนี้ก็สอดคล้องกับการล่าของสิงโตตัวผู้ด้วย เพราะเอาจริงๆเวลาที่ฝูงขาดอาหารไม่มีสัตว์เล็กๆไว้ล่ากิน สิงโตตัวผู้จะช่วยล่าสัตว์ใหญ่ๆที่ช้ากว่าสิงโต เช่น พวกวัวป่า ไปจนถึงยีราฟหรือกระทั่งช้างแอฟริกา เพราะก็อย่างที่อธิบายไปสิงโตตัวผู้ไม่มีปัญหากับการสู้กับแบบต่อหน้า มันแค่มีปัญหากับการซุ่มล่าเพราะมันทำไม่ได้ดีเท่าตัวเมีย นอกจากนี้การล่าสัตว์ตัวใหญ่ความเร็วของตัวเมียมันไม่ได้มีประโยชน์นัก แต่สิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าในการล่าสัตว์ตัวใหญ่คือแรงกัดและแรงตะปบของสิงโตตัวผู้มากกว่า


ซึ่งไปๆมาๆนี่ก็เป็นเรื่องธรรมชาติมาก เพราะการแบ่งงานกันทำตามเพศนั้นเป็นเรื่องปกติของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากอยู่แล้ว และการพยายามให้ทั้งสองเพศมีบทบาทหน้าที่ทัดเทียมกันในทุกมิติของสังคมอย่างสมบูรณ์ มันเป็นเรื่องประหลาดของมนุษย์เสียมากกว่า ซึ่งนั่นก็อาจสอดคล้องกับงานต่างๆในสังคมสมัยใหม่ของมนุษย์ที่มักจะต้องพึ่งพาลักษณะทางกายภาพพื้นฐานน้อยลงเรื่อยๆ