หาดทรายนั้นเกิดจากการผุพังสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินในแผ่นดินหรือหมู่เกาะ โดยเฉพาะหินทรายและหินแกรนิตจนกลายเป็นทรายและดิน เกิดการพัดพาจากลำธารสู่ท้องทะเล จากนั้นดินและทรายจะถูกแยกจากกันโดยเกลียวคลื่น ส่วนที่เป็นดินจะตกตะกอนทับถมเป็นโคลนตมอยู่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำและงอกเป็นผืนแผ่นดินต่อไป
ตามหาดทรายทั่วไป มักจะพบว่ามีสีขาวสวยงาม (ไม่นับชายหาดที่เปลี่ยนสีเพราะน้ำมือมนุษย์) สีขาวของทรายตามชายหาดนั้นเกิดจากแร่ชนิดหนึ่ง คือ ควอทซ์ (QUARTZ) ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็เห็นจะได้แก่ หินเขี้ยวหนุมาน แร่ควอทซ์ เป็นองค์ประกอบหลักของทรายส่วนใหญ่ ทั้งนี้เกิดจากการรวมตัวของธาตุ 2 ชนิด คือซิลิกอนและออกซิเจน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้ จากการสำรวจพบว่ามีอยู่เป็นจำนวนสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับธาตุอื่นๆที่มีอยู่ใกล้ผิวโลก
แร่ควอทซ์นอกจากจะมีอยู่มากตามธรรมชาติแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกจากการรวมตัวของซิลิกอนและออกซิเจน ซึ่งธาตุทั้งสองก็พร้อมที่จะรวมตัวกันอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้แร่ควอทซ์หรือหินควอทซ์ยังมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเฉพาะตัว ในเรื่องความแข็งแกร่งและคงทนต่อสภาพการกัดเซาะและสึกกร่อน จากอิทธิพลของคลื่นจากทะเลได้เป็นอย่างดี
หินชนิดอื่นที่มีความคงทนน้อย พอเกิดการบดกันก็จะทำให้แตกย่อยจนแหลกละเอียด ต่อจากนั้นก็จะถูกพัดพาลงสู่ก้นมหาสมุทรต่อไป เพราะฉะนั้นบริเวณชายหาดจึงเหลือเพียงอนุภาคของหินควอทซ์ที่มีสีขาวอย่างที่เราเห็น
ส่วนที่เป็นทรายซึ่งหนักและทนทานต่อการผุกร่อนกว่าก็จมลงและสะสมตัวเป็นพื้นทรายใต้ท้องทะเล โดยมีบางส่วนถูกคลื่นพัดพาเข้าสู่ฝั่ง สะสมมากขึ้นจนเกิดเป็นแนวหาดทรายตามชายฝั่งทั่วไป
และหาดทรายในภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มักจะมีสีขาวขุ่นและละเอียดราวกับแป้งเพราะมีกำเนิดมาจากซากปะการังที่ผุพังแล้ว เช่นที่หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เป็นต้น