คุณอาจจะเคยเห็นยีราฟฝูงใหญ่อยู่ตามสวนสัตว์ต่าง ๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงเจ้ายีราฟพวกนี้กำลังใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว หากคุณเคยไปเที่ยวสวนสัตว์สักแห่ง ส่วนที่คุณไม่ควรพลาดเลยก็คือการได้ไปชมความน่าทึ่งของบรรดายีราฟคอยาวที่ดูแปลกตา และการได้ป้อนอาหารเจ้ายีราฟเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็ก ๆ ไม่ใช่น้อย แต่หากคุณต้องการทำความรู้จักกับพวกมันให้มากขึ้น ทั้งประวัติยีราฟ ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ชีวิตอันน่าทึ่งจริง ๆ ของยีราฟเหล่านี้เป็นอย่างไร คุณจะต้องไม่พลาดบทความนี้
ยีราฟ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Giraffa) เป็นสกุลหนึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Giraffidae เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีลักษณะเด่น คือ เป็นสัตว์ที่ตัวสูง ขายาว ลำคอยาว มีเขา 1 คู่ ตัวมีสีเหลืองและสีน้ำตาลเข้มเป็นลาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ตัวผู้มีความสูง 4.8 ถึง 5.5 เมตร (16-18 ฟุต) และมีน้ำหนักถึง 900 กิโลกรัม (2,000 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดและความสูงน้อยกว่าเล็กน้อย จัดเป็นสัตว์บกที่มีความสูงที่สุดในโลก
ยีราฟ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขาของยีราฟเป็นสิ่งแสดงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ เขาของยีราฟตัวผู้ด้านบนมีลักษณะตัดราบเรียบและมีความใหญ่อวบกว่า ขณะที่ของตัวเมียจะมีขนสีดำปกคลุมเห็นเป็นพุ่มชัดเจน มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงราว 15-20 ตัว หรือมากกว่านั้นในทุ่งโล่งร่วมกับสัตว์กินพืชชนิดอื่น ๆ เช่น แอนทิโลป ม้าลาย หรือนกกระจอกเทศ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 3 ปีครึ่ง ตั้งท้องนาน 420-461 วัน ลูกยีราฟหย่านมเมื่ออายุได้ 10 เดือน เมื่อคลอดออกมาแล้วจะสามารถยืนและเดินได้ภายในเวลาไม่นานเหมือนสัตว์กีบคู่ทั่วไป และวิ่งได้ภายในเวลา 2-3 วัน ตัวเมียมีเต้านมทั้งหมด 4 เต้า ยีราฟจะเป็นสัดทุก ๆ 14 วัน แต่ละครั้งเป็นอยู่ราว 24 ชั่วโมง มีอายุขัยเฉลี่ย 20-30 ปี
ด้วยความที่เป็นสัตว์ตัวสูง ยีราฟจำเป็นต้องมีหัวใจขนาดใหญ่เพื่อหมุนสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง ยีราฟสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้มากกว่ามนุษย์ถึง 3 เท่า เพื่อไปเลี้ยงสมองที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 8 ฟุต เสมือนกับปั๊มน้ำที่สูบน้ำขึ้นไปยังตึกสูง หัวใจของยีราฟหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ระบบไหลเวียนโลหิตจึงเป็นแบบพิเศษ เรียกว่า "Rete mirabile" ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองมากเกินไปเวลายีราฟก้มตัวดื่มน้ำ ระบบไหลเวียนเลือดพิเศษนี้จึงเปรียบเสมือนวาล์วปิดเปิดน้ำ
แม้จะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ แต่ยีราฟก็ยังถูกคุกคามจากสัตว์กินเนื้อได้ เช่น สิงโต หรือไฮยีนา ยีราฟมีวิธีการป้องกันตัวคือ การเตะ จากขาหลังที่ทรงพลัง ซึ่งทำให้สิงโตได้รับบาดเจ็บได้ สิงโตจึงไม่ค่อยโจมตียีราฟตัวที่โตเต็มที่ แต่จะเล็งไปยังลูกยีราฟมากกว่า
คอของยีราฟประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งยึดติดกับบริเวณหัวไหล่ คอของยีราฟจึงไม่ห้อยตกลงมา ซึ่งคอของยีราฟนอกจากจะใช้เพื่อการดำรงชีวิตทั่วไป ยังมีส่วนสำคัญในพฤติกรรมทางสังคมเช่นกัน ยีราฟตัวผู้จะเข้าต่อสู้โดยใช้คอถูหรือฟาดกับยีราฟตัวอื่นด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหรือตายได้ เพื่อจะแสดงความเป็นจ่าฝูง และใช้เกี้ยวพาราสีหาคู่เพื่อสืบพันธุ์ด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่พ่วงมากับคอยาว ๆ ของยีราฟ คือความเงียบงันจนน่าฉงน ยีราฟแทบไม่เคยส่งเสียงใด ๆ และไม่สื่อสารกับพวกเดียวกันโดยใช้สัญญาณใด ๆ ก็ตามที่หูมนุษย์ได้ยิน ความเงียบของมันน่าประหลาดยิ่งขึ้นเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พวกมันเป็นสัตว์สังคมที่อาศัยอยู่ในสังคมแบบแยกกันอยู่และรวมกันอยู่เป็นช่วง ๆ (fission-fusion society) สัตว์อื่น ๆ ที่มีสังคมรูปแบบนี้ เช่น ช้างและชิมแปนซี มักเป็นสัตว์ช่างจ้อ สิ่งนี้ทำให้นักวิจัยบางคนเสนอแนวคิดว่า ยีราฟอาจส่งเสียงอินฟราซาวนด์ หรือคลื่นใต้เสียงความถี่ต่ำ เพื่อสื่อสารกันในระยะทางไกล (เหมือนเสียงฮึมฮัมความถี่ต่ำของช้าง) แต่หลักฐานเท่าที่มียังไม่แน่ชัด
อีกหนึ่งความน่าทึ่งของยีราฟคือ พวกมันมักจะใช้เวลาในการนอนหลับไม่กี่นาที และไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำบ่อย เนื่องด้วยลักษณะของเจ้ายีราฟที่ดูเก้งก้าง ทำให้พวกมันนั่งและลุกยืนขึ้นค่อนข้างจะลำบาก รวมถึงการก้มล้มลงไปดื่มน้ำตามแหล่งน้ำที่ดูจะไม่ค่อยสะดวกนัก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะในตอนที่เจ้ายีราฟกินใบไม้ที่อยู่ตามยอดไม้ หรือยอดพุ่มไม้ที่พวกมันใช้เป็นอาหารก็จะทำให้พวกมันได้รับน้ำได้อย่างเพียงพอแล้ว
ยีราฟยังมีความน่าทึ่งอีกมากมายที่จะทำให้คุณต้องร้อง ว๊าว! แต่น่าเสียดายที่จากการสำรวจพบว่าในปัจจุบันมียีราฟเหลือบนโลกแค่เพียง 110,000 ตัวเท่านั้น จึงได้เพียงแต่คาดหวังว่าคนรุ่นหลังคงได้มีโอกาสพบกับเจ้ายีราฟคอยาวที่น่าทึ่งเหล่านี้แบบตัวเป็น ๆ อย่างที่คนรุ่นนี้เคยสัมผัสได้ต่อไปอีกนาน ๆ