นกนางแอ่น มีขนาดลำตัวเล็กเท่ากับนกกระจอก มีขนปกคลุมสีเทาเข้มค่อนไปทางดำ ขนปีกและขนหางมีสีดำ จงอยปากสั้นสีดำยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ตาสีดำ ขาสีดำ กินแมลงเป็นอาหาร บินโฉบจับแมลงในระดับสูง ๆ ออกหากินตอนเช้า จะกลับรังที่อยู่ตามถ้ำต่าง ๆ ก็ต่อเมื่อถึงเวลาพระอาทิตย์ตกดินหรือยามโพล้เพล้ นกนางแอ่นมีกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ


นกนางแอ่นในเมืองไทยมีหลายชนิด แบ่งออกเป็นรังนกที่กินรังได้และกินรังไม่ได้ รังนกที่กินรังได้ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่รังนกธรรมชาติ และรังนกบ้าน หรือที่เรียกทั่วไปว่ารังนกคอนโดที่มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัด พบส่วนใหญ่ในภาคใต้ ส่วนรังนกตามธรรมชาตินั้น จะอาศัยอยู่ในถ้ำตามเกาะในทะเลภาคใต้ เริ่มจาก ด้านอ่าวไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฏร์ธานี ไปจนถึงจังหวัดพัทลุง ส่วนทางด้านทะเลอันดามัน เริ่มตั้งแต่ จังหวัดพังงาที่มีอาณาเขตติดกับเกาะของประเทศพม่า ลงไปจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง เรื่อยไปจนถึงจังหวัดสตูลที่ติดเขตแดนมาเลเซีย ตามลำดับ


นกนางแอ่นถ้ำ จะสร้างรังอยู่ตามผนังถ้ำหินปูนที่มีความชื้นเหมาะสม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ภายในถ้ำที่ลึกลับสลับซับซ้อน ในเกาะที่เป็นภูเขาสูงชันเพื่อป้องกันมันจากศัตรู นกนางแอ่นเป็นนกรักเดียวใจเดียว ครองคู่เดียวไปตลอดชีวิต พ่อนกแม่นกจะช่วยกันทำรัง นกนางแอ่น ถือว่าเป็นวิศวกรชั้นเยี่ยม ในการทำรังติดกับผนังถ้ำอย่างแน่นหนา โครงสร้างรังนกนางแอ่นประกอบด้วย 2 ส่วน คือฐานรังที่เกาะติดกับผนังถ้ำ และตัวรังตั้งฉากออกมาจากฐานรัง ลักษณะคล้ายพระจันทร์ข้างขึ้นครึ่งเสี้ยว นำ้หนักรังละประมาณ 8 กรัม หรือประมาณ 120 รังต่อกิโลกรัม


การดูแลรักษาสถานที่ที่ให้นกนางแอ่นอยู่จะต้องเป็นที่ค่อนข้างเงียบ ไม่มีเสียงอึกกะทึกครึกโครม เพราะนกนางแอ่นไม่ชอบเสียงดัง ศัตรูของนกนางแอ่นมีตุ๊กแก หนู แมลงสาบ มด ซึ่งจะต้องป้องกันและกำจัดไม่ให้มีสัตว์เหล่านี้มารบกวนหรือทำร้ายลูกนกนางแอ่น ที่จะมีผลทำให้ลูกนกลดปริมาณลง ส่วนขี้นกจะทำความสะอาดและเก็บออกมา 2-3 เดือนครั้ง โดยเอาไปใส่สวนปาล์มเป็นปุ๋ยมูลสัตว์ การเปิดเสียงนกร้องในบ้านจะเริ่มเปิดตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสองทุ่ม แต่จะมีพักเป็นช่วง ๆ ช่วงละ 1 ชั่วโมง เพื่อพักเครื่องจำนวน 2 ครั้ง ใน 1 วัน


การสร้างรัง นกนางแอ่นสร้างรังด้วยน้ำลาย โดยจะผลิตจากต่อมน้ำลายโดยตรง ซึ่งจะมีปริมาณมากเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปกติจะทำรังและวางไข่ตลอดปี แต่ช่วงที่ทำรังและวางไข่มากที่สุดอยู่ระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม รังที่ทำด้วยน้ำลายเมื่อรังแห้งจะมีลักษณะคล้ายเจลาตินแข็ง ๆ กว้างประมาณ 5 – 8 เซนติเมตร ลึกประมาณ 2 เซนติเมตร สำหรับวางไข่ครั้งละ 2 ฟองต่อรัง นกนางแอ่นใช้เวลาสร้างรังแต่ละรังใช้เวลาประมาณ 20 วัน


ถ้าทำรังครั้งแรกแล้วถูกคนเก็บไป นกตัวเมียจะสร้างรังใหม่อีกอย่างเร็ว เป็นครั้งที่ 2 แต่ถ้ารังที่สร้างครั้งที่ 2 ถูกเก็บไปอีก นกนางแอ่นทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้างรังใหม่เป็นครั้งที่ 3 ปกติคนที่เก็บรังนกจะเก็บรังนกเพียง 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 จะปล่อยให้นกนางแอ่นวางไข่ และแพร่พันธุ์ต่อไปจะได้ไม่สูญพันธุ์


การเก็บรังนก เก็บได้ปีละไม่เกิน 3 ครั้งครั้งที่ 1และครั้งที่ 2 ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นมีนาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน คนเก็บรังนกจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความชำนาญ และกำหนดการเก็บรังนกให้เหมาะสมกับระยะเวลา คือในการเก็บครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ต้องให้แล้วเสร็จก่อนที่แม่นกจะวางไข่ และหากนกวางไข่แล้ว นกจะไม่ทำรังอีกในปีนั้น หลังจากนั้นจะปล่อยให้นกทำรังฟักไข่ และรอจนกว่าลูกนกจะบินออกจากรังไปหมดแล้ว จึงจะทำการเก็บอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการเพิ่มประชากรนก


ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันพบว่า ในรังนกนางแอ่นมีสารประกอบที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้ผลิตสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ช่วยซ่อมแซมเซลล์เยื่อบุผิว ทำให้ผิวพรรณดูอ่อนกว่าวัย ช่วยบำรุงระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไข้หวัด