มีหลายปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการลดลงอย่างรวดเร็วของยีราฟเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์อย่างผิดกฏหมาย การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากฝีมือของมนุษย์ เช่น การทำเหมือง การทำการเกษตร หรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่าที่เพิ่มขึ้น และถ้าสิ่งเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป ยีราฟเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับสิ่งที่เราเรียกว่า “การสูญพันธุ์เงียบ” เนื่องจากประชากรยีราฟตอนนี้ได้หายไปมากกว่า 1 ใน 3 ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
คอร์โดแฟน (Kordofan) และ นูเบียน (Nubian) คือชื่อของ 2 สายพันธุ์ย่อยของยีราฟ ที่เราสามารถพบได้มากที่สุดในประเทศแคเมอรูนและเคนยา ซึ่งตอนนี้ทั้ง 2 สายพันธุ์ได้ถูกองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ขึ้นบัญชีแดง (Red List) ให้เป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”
สำหรับบัญชีแดงของ IUCN ถือเป็นดัชนีรายชื่อที่สมบูรณ์ที่สุดของสถานภาพของสปีชีส์พืชและสัตว์ต่างๆ ของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยระดับความเสี่ยงดังกล่าวถือเป็นระดับที่สูงมากรองมาจากระดับ “สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว” และ “สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ”
น่าแปลกที่เราแทบไม่ให้ความสนใจกับการปกป้องยีราฟจากขบวนการล่าสัตว์อย่างผิดกฏหมาย ไม่เหมือนกับช้างที่ถูกล่าเอางา หรือแรดที่ถูกล่าเอานอ แต่ยีราฟมักจะถูกล่าเพื่อเอาเนื้อ เนื่องจากยีราฟไม่ได้มีค่าตอบแทนสูงเหมือนกับช้างหรือแรด ดังนั้นเราจึงเห็นการรณรงค์ที่ออกมาปกป้องยีราฟน้อยมากๆ
และเมื่อถามว่ายีราฟอยู่ในขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์มากแค่ไหนในอีก 20 ปีข้างหน้า ทาง ดีเร็ค ลี นักนิเวศวิทยาจาก IUCN ผู้ที่ทำงานในบัญชีแดงกล่าวว่า “ถ้าไม่มีสถานการณ์อะไรเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าเราจะได้เห็นการลดลงของยีราฟในปริมาณมหาศาล”
ทางด้านสภาอนุรักษ์โลกได้มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหานี้ ซึ่งการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ยีราฟเหล่านี้คงอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการอนุรักษ์ยีราฟมากขึ้นและช่วยเพิ่มพื้นที่อาศัยให้กับยีราฟมากขึ้นเช่นกัน
บทสรุปสำหรับเรื่องนี้ก็คือ อนาคตของยีราฟจะลดลงหรือเพิ่มมากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับน้ำมือของมนุษย์อย่างเราๆ ตอนนี้ยังมีเวลาที่จะเริ่มให้ความสำคัญกับยีราฟเหล่านี้ ก่อนที่จะสายเกินไปและลูกหลานเราอาจได้รู้จักยีราฟแค่เพียงในหนังสือเท่านั้น