สุขภาพจิตมีความสำคัญไม่แพ้สุขภาพร่างกาย เพราะจะส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงการรับมือกับความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถมีสุขภาพจิตที่ดีได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง และปรับมุมมองที่มีต่อโลกให้เป็นไปในแง่ดี เพื่อให้มีความสุขกับชีวิตมากยิ่งขึ้น
หากเครียดมาก ๆ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ฮอร์โมนความเครียดจะสูงขึ้น การทำงานของระบบฮอร์โมนอื่น ๆ ก็กระทบกระเทือนไปด้วย เช่น มีผื่นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง เป็นสิวเรื้อรัง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย นอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น อารมณ์ปรวนแปร อ่อนเพลียไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจเกิดอาการซึมเศร้า มีความคิดทำร้ายร่างกายตนเองและคิดฆ่าตัวตายได้ หลายคนเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ก็จะรักษาไปตามอาการ โดยการรับประทานยา เมื่อหายแล้วสักพักก็เกิดอาการขึ้นซ้ำอีก เมื่อหากร่างกายหายเป็นปกติสมบูรณ์แล้ว แต่จิตใจยังมีปัญหาอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไขเรื่องความไม่สมดุล ก็ทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นอีก แต่เมื่อใดที่ร่างกายและจิตใจมีความสมดุล ระบบต่าง ๆ ของร่างกายก็กระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ อาการผิดปกติจะดีขึ้นและสามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอแนะนำวิธีการสร้างสมดุลด้านจิตใจและร่างกาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยมีหลัก 5 ข้อ ดังนี้
1. หมั่นออกกำลังกาย
เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ เพราะจะช่วยทำให้หัวใจและปอดแข็งแรง เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ช่วยลดคอเรสเตอรอล ทำให้โอกาสเส้นเลือดอุดตันลดลง ส่งผลดีต่อระบบการย่อยและการขับถ่าย ทั้งยังช่วยให้นอนหลับสนิทอีกด้วย
2. เลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ
อาหารที่มีประโยชน์เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดี การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สด สะอาดให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
3. มองโลกในแง่ดี
มีงานวิจัยที่พบว่ามุมมองความคิดที่มีต่อตัวเองนั้นส่งผลต่อความคิดของคนเราได้ หากมองโลกในแง่ร้ายก็จะทำให้เลือกมองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแต่ในด้านลบ ดังนั้น ควรฝึกคุยกับตัวเองโดยใช้คำที่ช่วยให้รู้สึกดีและเห็นคุณค่าในตัวเอง รวมทั้งพยายามเลือกมองในด้านที่ดีและมีความหวังที่จะพัฒนาหรือแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด
4. เขียนบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน
การเขียนระบายและบันทึกความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเปรียบเสมือนการสำรวจตัวเอง ตกผลึกความคิด ซึ่งอาจช่วยให้วิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไขได้ดียิ่งขึ้น
5. บริหารและบำรุงสมองอย่างต่อเนื่อง
สมองเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากรับหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบและอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด การบริหารสมองไม่ว่าจะเป็นการเล่นหมากรุก เกมอักษรไขว้ เกมจับผิดภาพ เกมจำตำแหน่งภาพจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพสมองที่ดี นอกจากนี้อาจรับประทานสารอาหารที่ช่วยบำรุงสมองอย่างน้ำมันปลาและวิตามินบีร่วมด้วยเพื่อช่วยในการหมุนเวียนเลือดและลดอาการหลงลืม
คอยสังเกตดูแลเอาใจใส่ตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ ว่าอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่ ทำอะไรเกินหรือขาดไปบ้าง ให้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจ เพื่อจะได้รู้ว่าควรปรับตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาวะสมดุลอย่างไร