แมงกะพรุน (Jellyfish) ที่เราท่านคนไทยทุกคนคงคุ้นเคยกันดีนั้น ถือเป็นแพลงค์ตอนสัตว์ขนาดใหญ่ บางชนิดก็มีพิษรุนแรง แต่ชนิดที่บริโภคได้นั้น มีจำนวนมากถึง 17 สายพันธุ์ ซึ่งแมงกะพรุนที่ใช้เป็นอาหารได้ ส่วนใหญ่เป็นแมงกะพรุนที่อยู่ใน Class Scyphozoa
ในประเทศไทยนั้น พบแมงกะพรุนที่บริโภคได้ 3 สายพันธุ์ คือ แมงกะพรุนหอม (Mastigiad sp.) แมงกะพรุนหนัง (Rhopilema hispidum) และแมงกะพรุนลอดช่อง (Lobonema smithii) ซึ่งการบริโภคแมงกะพรุนในบ้านเรา จะใช้แมงกะพรุนหนัง กับแมงกะพรุนลอดช่องกันเสียมาก โดยนิยมนำมาดองกับน้ำฝาดซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองในภาคตะวันออก หรือนำมาตากแห้งใส่กับอาหารต่าง ๆ เช่น ใช้ใส่ในเย็นตาโฟ หรือดองเค็มแบบกึ่งแห้งส่งขายต่างประเทศในแถบเอเชียที่มีความนิยมบริโภคแมงกะพรุนเช่นกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี
แมงกะพรุนมีองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ น้ำและโปรตีน เมื่อนำมาตากแห้งแล้วก็ยังคงมีโปรตีนสูงอยู่ ทำให้แมงกะพรุนเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนย่อยง่ายที่น่าสนใจไม่แพ้นม ไข่ไก่ หรือปลาเลยคุณค่าทางอาหารของแมงกะพรุนคือ มีโปรตีนสูงและแคลอรีต่ำ เป็นโปรตีนประเภทคอลลาเจนสามารถรับประทานได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคอลลาเจนจากแมงกะพรุนอาจจะมีส่วนรักษาโรคไขข้ออักเสบ และโรคหลอดลมอักเสบ ตลอดจนทำให้ผิวหนังนุ่มนวลด้วย นอกจากนี้แมงกะพรุนยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนิเซียม โพแทสเซียม วิตามินเอ ไรโบเฟลวิน และไนอาซิน
แมงกะพรุน เมื่อนำมาประกอบอาหารก็จัดเป็นอาหารที่มีประโยชน์ รสชาติอร่อย แต่หากเป็นแมงกะพรุนที่อาศัยอยู่ในทะเลก็ถือเป็นสัตว์พิษที่อันตราย และไม่ควรสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หากคุณกำลังจะไปเที่ยวทะเลแล้วพบว่า บริเวณนั้นมีป้ายเตือนนักท่องเที่ยวก็ไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล ซึ่งโดยปกติแล้วแมงกะพรุนจะมีมากในช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม และควรเตรียมน้ำส้มสายชูติดตัวไปด้วยเสมอ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสแมงกะพรุน มีดังนี้
1. ให้ผู้สัมผัสแมงกะพรุนอยู่นิ่ง ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของพิษแมงกะพรุน ในระหว่างนั้นให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายหาดหรือคนในพื้นที่ โดยปกติแล้วบริเวณชายหาดจะมีหน่วยพยาบาลประจำอยู่
2. ห้ามขัดถูหรือล้างบริเวณที่ถูกพิษแมงกะพรุนด้วยน้ำจืด เพราะจะทำให้พิษรุนแรงขึ้น ให้ล้างด้วยน้ำส้มสายชู อย่างน้อย 30 วินาที หากไม่มี ให้ใช้น้ำทะเลล้าง จะช่วยบรรเทาความรุนแรงลงได้
3. หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ ให้ช่วยหายใจก่อน และล้างบริเวณถูกพิษด้วยน้ำส้มสายชู หลังจากนั้นให้รีบพาไปยังโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอาการแพ้รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต
4. หากมียาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ให้ฉีดให้ผู้ป่วยก่อนที่บริเวณหน้าท้อง (ไม่ฉีดรอบสะดือ) ต้นขาด้านหน้าหรือด้านข้าง จะช่วยลดความรุนแรงของการแพ้ได้ โดยหลังฉีดยาเรียบร้อยให้รับพาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทันที