ลักษณะทั่วไปของปาล์มและมะพร้าว


• “ปาล์ม” มีถิ่นกำเนิดจากเขตร้อนเป็นหลัก แต่บางชนิดสามารถเติบโตในเขตเย็น เช่น ทางใต้ของยุโรปและญี่ปุ่น ปาล์มส่วนใหญ่มีลักษณะเด่นคือมีลำต้นที่แบ่งเป็นข้อชัดเจน ใบจะอยู่ที่ยอดเดียวและไม่แตกกิ่งก้านออกไป มีลักษณะของก้านใบที่ยาวและใหญ่ ซึ่งใบอาจมีลักษณะแตกต่างกัน แต่จะรวมกันอยู่ที่ปลายก้านเดียว นอกจากนี้ยังมีปาล์มบางชนิดที่มีลำต้นไม่สูงจากพื้นดิน แต่ยังคงมีลักษณะใบที่คล้ายกับปาล์ม


• “มะพร้าว” เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลำต้นทรงกระบอกและเจริญเติบโตขึ้นทางด้านบน ลำต้นของมะพร้าวไม่มีการแตกกิ่งข้างลำต้นและเป็นไม้เนื้ออ่อน โดยลำต้นมีลักษณะเป็นปล้องที่หุ้มด้วยเปลือก ใบของมะพร้าวมีลักษณะเป็นแฉกคล้ายขนนกและแผ่กว้างตามขนาดของใบ รากเป็นระบบรากฝอยที่แผ่กว้างรอบโคนต้นและหยั่งลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 1-2 เมตร การออกผลของมะพร้าวอาจจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก สภาพของดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศ


ลักษณะเด่นของปาล์ม


• เป็นพืชที่ปลูกได้เฉพาะในเขตพื้นที่ร้อนชื้น โดยภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูก


• มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี


• ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชน้ำมันชนิดอื่น ๆ และมีราคาถูกกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น


• เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับการบริโภคและอุปโภคของประชากรในชีวิตประจำวัน


• ทุกส่วนของต้นปาล์มสามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งรวมถึงวัสดุพลอยได้ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป


• มีความหนาแน่นต้นต่อตารางเมตรต่ำ (ประมาณ 22 ต้นต่อไร่) ทำให้การจัดการด้านแรงงานสะดวก


• เป็นพืชยืนต้นที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มีอายุการเก็บเกี่ยวมากกว่า 25 ปี จึงสามารถให้รายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงงาน


ลักษณะเด่นของมะพร้าว


• สำหรับมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนถึงนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


• ผลมะพร้าวที่ได้สามารถนำมาทำกะทิทั้งชนิดเหลวและผง เพื่อใช้ในอาหารทั้งคาวและหวาน รวมถึงการแปรรูปเป็นน้ำมันมะพร้าวในโรงงานอุตสาหกรรม พันธุ์ที่ได้รับความนิยมคือพันธุ์ต้นสูงผลโต (tall coconut) ซึ่งมักปลูกในระบบไร่ในพื้นที่ที่ราบลุ่ม เกาะ ชายฝั่งทะเล และที่ราบเชิงเขา